แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์โดยสาร เห็นโจทก์ยืนเกาะห้อยโหนบันไดรถ ตัวโจทก์ยื่นออกไปนอกรถ แล้วยังคงขับรถต่อไปโดยไม่จัดการมิให้มีการเกาะห้อยโหนเช่นนั้นเสียก่อน ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาท
โจทก์มีส่วนผิดเพราะเกาะห้อยโหนรถ ความรับผิดของจำเลยจึงต้องลดลงตามส่วน
จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นและหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว มิใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วยไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสาร จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถ จำเลยที่ 3เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2507 จำเลยที่ 1 ขับรถดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ด้วยความประมาท ด้วยอัตราความเร็วสูงกว่ากฎหมายกำหนด ขณะขับผ่านสะพานมิได้ชะลอความเร็ว แต่กลับเร่งความเร็วและหักหลบรถที่แล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้รถแฉลบเข้าหาข้างสะพานทางซ้ายมือ และเหวี่ยงตัวโจทก์ที่ยืนอยู่ในรถทางด้านหลังออกไปนอกรถ เบียดกับขอบสะพาน ทำให้โจทก์ตกลงกับพื้นถนนได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัส แพทย์โรงพยาบาลวชิรรับไว้รักษาตัวเป็นเวลา228 วัน และลงความเห็นว่าโจทก์ต้องพิการไปตลอดชีวิต ขอเรียกค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนรวม 60,000 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถโดยประมาท โจทก์ยืนเกาะห้อยโหนรถ ตัวยื่นออกไปนอกรถ พอดีรถขึ้นสะพาน ตัวโจทก์จึงไปเบียดกับข้างสะพาน พลัดตกจากรถ ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์27,000 บาทเศษ โจทก์พอใจและตกลงกับจำเลยที่ 2 ว่าจะไม่เรียกร้องค่าอื่น ๆ อีก
จำเลยที่ 2, 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาท โจทก์เป็นฝ่ายประมาทเอง แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายผิด จำเลยก็ยังช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้ 18,922 บาท จำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ถือหุ้น มีจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 อยู่แล้วจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาท เพราะเห็นโจทก์กระโดดยืนเกาะอยู่ที่บันไดรถชั้นล่างสุดในลักษณะห้อยโหนแล้วยังคงขับต่อไป เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477มาตรา 24 แต่โจทก์เองก็มีส่วนผิด ความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงต้องลดลงตามส่วน
สำหรับค่ารักษาพยาบาล 228 วันที่โจทก์เรียก 50,000 บาทจำเลยช่วยเหลือชำระให้ 18,922 บาทแทนโจทก์แล้ว เป็นจำนวนที่นับว่าพอสมควรอยู่ ส่วนค่ายา ค่ารักษาพยาบาลหลังจากจำนวน 228 วันเป็นเรื่องนอกฟ้อง เงินค่าเฝ้าไข้พิเศษตามเอกสาร จ.9 กับค่ายาตามเอกสารหมาย จ.1-2 รวม 3,440 บาท โจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีความจำเป็นอย่างไร จึงต้องจ้างคนเฝ้าไข้พิเศษ จึงไม่ควรให้จำเลยต้องรับผิด
สำหรับค่าสินไหมทดแทน ให้จำเลยรับผิดชดใช้ให้โจทก์ 20,000 บาท
พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน 20,000 บาทพร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสียค่าธรรมเนียม ค่าทนายความ ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลและค่าทนายความทั้งสองศาล 500 บาทแทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์เกาะห้อยโหนบันไดรถโดยสารที่ตนขับอยู่ โดยตัวโจทก์ยื่นออกไปนอกรถการที่จำเลยที่ 1 ยังคงขับต่อไปโดยไม่จัดการมิให้มีการเกาะห้อยโหนเช่นนั้นเสียก่อน จะเรียกว่าจำเลยที่ 1 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยหาชอบไม่ ข้อเท็จจริงในคดีเชื่อได้ว่า หากจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังไม่ยอมให้โจทก์เกาะห้อยโหนรถโดยสารเช่นนั้นอันตรายแก่กายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ก็จะไม่เกิดขึ้น จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำโดยประมาท แต่อย่างไรก็ดี โจทก์เองก็มีส่วนประมาทอยู่ด้วย เมื่อพิเคราะห์ค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แก่โจทก์มานั้น เห็นว่าชอบด้วยรูปคดีแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น เห็นว่ายังคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะจำเลยที่ 3เป็นแต่เพียงผู้ถือหุ้นและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 มิใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นในบางส่วน
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เป็นเงินรวมทั้งสิ้น สองหมื่นบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยเฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าที่โจทก์ชนะคดี และเห็นสมควรกำหนดค่าทนายความสองศาล ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้ให้โจทก์เป็นเงินหกร้อยบาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาสำหรับจำเลยที่ 3 ให้เป็นอันพับ