แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก มาตรา 40 และมาตรา 138ที่โจทก์ฟ้องไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษปรับไว้เป็น อย่างอื่น จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 31 มา ใช้บังคับ โดยต้องปรับจำเลยทั้งสามเรียงตามรายตัวบุคคล ไป จะปรับจำเลยทั้งสามรวมกันไม่ได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1339/2506)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถของจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัว และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการได้ร่วมกันนำรถยนต์โดยสารซึ่งเป็นรถที่จำเลยที่ 3 ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางมากระทำการขนส่งคนโดยสารเพื่อสินจ้างตามเส้นทางที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางได้ประกาศให้บริษัทขนส่ง จำกัด เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางนั้นโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 40, 138 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 40, 138 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ปรับคนละ 50,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 25,000 บาทในกรณีที่จำเลยไม่ชำระค่าปรับ สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ไม่เกิน 2 ปี ส่วนที่จำเลยที่ 3ให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามในฐานะตัวการร่วมกันกระทำผิด เมื่อจำลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องมีความผิดและต้องรับโทษตามฟ้องของโจทก์ด้วย ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 40 และมาตรา 138 ที่โจทก์ฟ้อง ไม่ได้บัญญัติเี่ยวกับการลงโทษปรับไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 31 มาใช้บังคับกับคดีนี้โดยต้องปรับจำเลยทั้งสามเรียงตามรายตัวบุคคลไป จะปรับจำเลยทั้งสามรวมกันไม่ได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1339/2506 ระหว่าง ผู้ว่าคดีศาลแขวงสงขลา โจทก์นายปาน พรหมเวชกับพวก จำเลย
พิพากษายืน