แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่ศาลฎีกาพิพากษาเพียงว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์มีสิทธิ ครอบครองที่พิพาท ให้เพิกถอน น.ส.3ก.สำหรับที่ พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลย มิได้พิพากษาให้จำเลยออกจากที่ พิพาท ศาลชั้นต้นจะออกคำบังคับให้จำเลยออกจากที่พิพาท ภายในกำหนด 30 วันไม่ได้ เพราะเป็นการ ออกคำบังคับเกิน กว่าคำพิพากษาศาลฎีกา แม้คดีนี้จะเป็นคดีฟ้องเรียก อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1) บัญญัติว่า ‘ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภทเดียวกับ ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี เมื่อศาล เห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้’ ย่อม หมายความว่า ศาลจะต้องเห็นสมควรและมีคำสั่งไว้ ขณะเมื่อมี คำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดคดี โดยเฉพาะคดีนี้โจทก์เป็นยายจำเลยโจทก์อาจประสงค์ให้ที่ดินตามน.ส.3 ก ที่พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยกลับมา เป็นชื่อของโจทก์เท่านั้น โดยไม่ประสงค์จะขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท จึงมิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ ขับไล่จำเลยในขณะที่ยื่นฟ้อง ฉะนั้นที่ ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยออกจากที่พิพาทภายใน 30 วัน จึงไม่ ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์โจทก์สิทธิครอบครองที่พิพาท ให้เพิกถอน น.ส. 3 ก. สำหรับที่พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลย ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยออกจากที่พิพาทภายใน 30 วันครบกำหนดตามคำบังคับจำเลยและบริวารไม่ยอมออก ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยและบริวารมาสอบถาม จำเลยแถลงว่าตามคำพิพากษาของศาลไม่ได้พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากที่พิพาทนางยานผู้เข้ามาเป็นคู่ความแทนโจทก์แถลงว่าหากจำเลยและบริวารจะอยู่ในที่พิพาทต่อไปอีก 30 วัน ก็ไม่ขัดขวาง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาทภายในกำหนด 30 วัน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ (1) ในคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภทเดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยถ้าพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ คำสั่งศาลเช่นว่านี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยที่อยู่บนอสังหาริมทรัพย์นั้น ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้” เห็นว่า คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาทให้เพิกถอน น.ส. 3 ก.สำหรับที่พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลย มิได้พิพากษาให้จำเลยออกจากที่พิพาทฉะนั้นศาลชั้นต้นจะออกคำบังคับให้จำเลยออกจากที่พิพาทภายในกำหนด30 วันไม่ได้ เพราะเป็นการออกคำบังคับเกินกว่า คำพิพากษาศาลฎีกา จริงอยู่แม้คดีนี้จะเป็นคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1) บัญญัติว่า “ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภทเดียวกับฟ้อง่ขอให้ขับไล่จำเลย ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้” ย่อมหมายความว่าศาลจะต้องเห็นสมควรและมีคำสั่งไว้ขณะเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี มิฉะนั้นแล้วในชั้นบังคับคดีก็จะเกิดโต้เถียงกันไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฉพาะคดีนี้โจทก์เป็นยายจำเลยโจทก์อาจประสงค์เพียงให้ที่ดิน น.ส.3 ก. ที่พิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยกลับมาเป็นชื่อของโจทก์เท่านั้น โดยไม่ประสงค์จะขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท จึงมิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ขับไล่จำเลยในขณะยื่นฟ้อง ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยออกจากที่พิพาทภายในกำหนด 30 วัน และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ออกคำบังคับให้จำเลยออกจากที่พิพาทภายใน 30 วัน