คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1000/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาที่ว่าสัญญาเลิกกันแล้วหรือไม่กับการนำเอาสัญญาที่เลิกกันแล้วกลับมาใช้ใหม่ตามข้อตกลงในสัญญาใหม่นั้นหาเหมือนกันไม่ดังนั้นเมื่อโจทก์ไม่ได้ตั้งเรื่องการมีข้อตกลงในสัญญาใหม่ให้นำสัญญาที่จำเลยต่อสู้ว่าเลิกกันแล้วกลับมาใช้ใหม่แต่กลับปรากฏว่ามีสัญญาใหม่ดังกล่าวในขั้นสืบพยานจึงย่อมถือได้ว่าโจทก์นำสืบถึงสัญญาใหม่ดังกล่าวนอกฟ้องนอกประเด็นจะรับฟังนำมาวินิจฉัยคดีหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 42374 เนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา ราคา 260,000 บาท ให้แก่โจทก์หากผิดสัญญายอมให้โจทก์ปรับ 4 เท่าของราคาซื้อขาย ทั้งนี้โดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อทำความตกลงในการซื้อขายและลงนามในสัญญาฐานะพยานและผู้ให้ความยินยอมกับเป็นผู้รับเงินมัดจำ 10,000 บาทจากโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยสมคบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 42374, 42344, 42347, 42355 และ 42372 รวม 5 แปลงให้แก่จำเลยที่ 3 โดยไม่มีค่าตอบแทนโดยเจตนาเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้เมื่อชนะคดี แล้วจำเลยที่ 3 ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 42374, 42344 และ 42373 ให้แก่บุคคลอื่น กับโอนบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 42347 และ 42355 ให้บุคคลภายนอกถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย โจทก์ได้ฟ้องมูลคดีนี้ต่อศาลแพ่งแล้วครั้งหนึ่ง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำความตกลงกับโจทก์ว่าจะโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 42374 เนื้อที่ 173 ตารางวาให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่าที่ดินดังกล่าวได้โอนใส่ชื่อจำเลยที่ 4 และที่ 5ไว้โดยไม่มีเจตนาโอนขายให้แก่กันโจทก์ขอคิดเงินค่าปรับจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียง300,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระะงินจำนวน300,000 บาท ให้แก่โจทก์ ให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 42347 และ 42355 ซึ่งจำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 3 เฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 กับโฉนดเลขที่42374 ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันโอนให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 เฉพาะส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงิน 300,000 บาท ให้โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า สัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องได้เลิกไปแล้วโดยการทำสัญญาใหม่เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2522 และเป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินซึ่งตามสัญญาใหม่ดังกล่าวโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องและเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินจากจำเลยที่ 1 และขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 โดยสุจริต ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ทำขึ้นหลังการฟ้องคดีแรกนั้นกระทำในขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีสิทธิในที่ดินแล้ว จึงตกเป็นโมฆะและฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ส่งเอกสารท้ายฟ้องรวม 16 อันดับให้แก่จำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า สัญญาจะซื้อขายที่ดินที่โจทก์นำมาฟ้องคดีและบันทึกข้อตกลงฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2523 เกิดจากการที่โจทก์กับจำเลยที่ 3 สมคบกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยกที่ดินให้จำเลยที่ 3 โดยชอบ จำเลยที่ 4 และที่ 5ไม่เคยทราบถึงนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอน โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 และที่ 5ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าปรับให้โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 42374 เฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 1 ยกให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 โอนขายให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5ให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1ดังเดิม

โจทก์อุทธรณ์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน300,000 บาท และให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 42347 และ 42355 ให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ด้วย

จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งห้า

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าฟ้องของโจทก์มีมูลให้บังคับได้หรือไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากันรวม 3 ฉบับ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 (เอกสารท้ายฟ้องหมาย 1) จ.15 (เอกสารท้ายฟ้องหมาย 10) และ จ.31ตามลำดับ ตามคำฟ้องของโจทก์ประกอบเอกสารท้ายฟ้องไม่มีข้อความตอนใดที่พอจะหยั่งถึงได้ว่ายังมีสัญญาฉบับที่ 3 (เอกสารหมาย จ.31) อยู่อีกฉบับหนึ่งจำเลยที่ 1และที่ 2 ให้การว่าสัญญาตามฟ้องข้อ 1 (เอกสารหมาย จ.2) โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ตกลงให้ยกเลิกไปและได้ทำสัญญาขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2512 ข้อพิพาทฟ้องข้อ 1 ระงับไปแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาข้อ 1 (เอกสารท้ายฟ้องหมาย 1หรือเอกสารหมาย จ.2) ได้ ศาลชั้นต้นนัดชี้สองสถานวันที่ 3 มีนาคม 2523 ทนายโจทก์ไปศาล ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อ 1 ว่า สัญญาซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้เลิกกันแล้วหรือไม่ ทนายโจทก์ยอมรับประเด็นดังกล่าวโดยมิได้กล่าวอ้างถึงสัญญาฉบับที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.31 เลย ถ้าโจทก์บรรยายฟ้องอ้างถึงสัญญาดังกล่าวด้วย ประเด็นก็ต้องเปลี่ยนไปเพราะสัญญาเลิกกันแล้วหรือไม่กับการนำเอาสัญญาที่เลิกกันแล้วกลับมาใช้ใหม่ตามข้อตกลงในสัญญาใหม่เหมือนหันไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่คู่สัญญาตกลงกันให้กลับไปบังคับตามสัญญาเดิมนั้นไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมใช้บังคับกันได้แต่แทนที่โจทก์จะตั้งเป็นข้อหามาในคำฟ้องกลับมาปรากฏว่ามีสัญญาดังกล่าวในชั้นสืบพยานดังนี้ย่อมถือได้ว่าโจทก์นำสืบถึงสัญญาตามเอกสารหมาย จ.31 นอกฟ้องนอกประเด็นจะรับฟังนำมาวินิจฉัยคดีหาได้ไม่ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share