คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1220/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539 มิได้บัญญัติเรื่องค่าขึ้นศาลไว้โดยเฉพาะดังนั้นจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่องค่าขึ้นศาลมิได้บัญญัติว่าคดีหนึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ในการพิจารณาว่าคดีใดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด จำต้องพิจารณาคำฟ้องเป็นเกณฑ์ ซึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(3) บัญญัติว่า คำฟ้อง หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาลฯ ดังนี้ การเรียกค่าขึ้นศาลจึงต้องดูว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหาแต่ละข้อหาเกี่ยวข้องกันหรือแยกจากกันได้ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ข้อหาหนึ่ง ปี 2538 ข้อหาหนึ่งและปี 2539อีกข้อหาหนึ่ง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล 3 ข้อหา ที่ไม่เกี่ยวข้องกันสามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งสามข้อหา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวน 49,313,616.84 บาท แก่โจทก์ พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินค่าภาษี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมา 200,000 บาทจึงให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่พิพาทในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีให้ครบถ้วนภายในวันที่ 17 มีนาคม 2542 เมื่อโจทก์เสียค่าขึ้นศาลครบถ้วนแล้วจะพิจารณาสั่งต่อไป

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพียง 200,000 บาท ถูกต้องหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่าการประเมินภาษีอากรเกิดจากการออกหมายเรียกฉบับเดียวกันและประเมินภาษีในคราวเดียวกัน เนื่องจากการตรวจสอบภาษีที่จำเลยค้างชำระต่อโจทก์ในคราวเดียวกันถือว่าเป็นข้อหาเดียวกัน การเสียค่าขึ้นศาลจึงควรเสียตามที่ตาราง 1 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดไว้ คือ เสียในอัตราสองบาทห้าสิบสตางค์ต่อหนึ่งร้อยบาท แต่ไม่ให้เกินสองแสนบาท ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ. 2539 มิได้บัญญัติเรื่องค่าขึ้นศาลไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งตามตาราง 1ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่องค่าขึ้นศาลมิได้บัญญัติว่า คดีหนึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลไม่เกิน 200,000 บา ดังนั้น ในการพิจารณาว่าคดีใดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด จำต้องพิจารณาคำฟ้องเป็นเกณฑ์ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(3) บัญญัติว่า คำฟ้องหมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาลฯ ดังนี้ การเรียกค่าขึ้นศาลจึงต้องดูว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหา แต่ละข้อหาเกี่ยวข้องกันหรือแยกจากกันได้คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ถึงปี 2539 ตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินซึ่งภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดอยู่ในประเภทภาษีอากรประเมิน และให้เจ้าพนักงานประเมินเป็นผู้ประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 38 โดยการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการประเมินการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ว่า ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้รายได้และรายจ่ายแตกต่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีและการฟ้องคดีของโจทก์ก็เพื่อให้จำเลยชำระภาษีตามที่ได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่จำเลยในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกี่ยวข้องกันสามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ข้อหาหนึ่ง ปี 2538 ข้อหาหนึ่ง และปี 2539 อีกข้อหาหนึ่ง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล 3 ข้อหา ที่ไม่เกี่ยวข้องกันสามารถแยกออกจากกันได้ โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งสามข้อหาที่ศาลภาษีอากรกลางให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่พิพาทในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีให้ครบถ้วนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share