แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ยาไดอาซีแพม ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภทที่ 4ปลอมปนใส่ในเครื่องดื่มนมเปรี้ยวยี่ห้อยาคูลท์ให้ผู้เสียหายกับ ซ. ดื่มเป็นเหตุให้ผู้เสียหายหมดสติอยู่ในภาวะขัดขืนไม่ได้ แล้วพวกของจำเลยได้เอาสร้อยพลอย91 เส้น ของผู้เสียหายไป แม้จะตรวจพบยาไดอาซีแพมในขวดเครื่องดื่มนมเปรี้ยวก็ตาม แต่หลังเกิดเหตุ 3 ชั่วโมง ได้ตรวจปัสสาวะของผู้เสียหายกับ ซ. ไม่พบยานอนหลับซึ่งเป็นยาระงับประสาทกลุ่มเบนโซไดอะซีฟิน หรือกลุ่มยากระตุ้นประสาทหรือระงับประสาทอื่น ๆ แสดงว่าขณะเกิดเหตุบุคคลทั้งสองมิได้ดื่มเครื่องดื่มนมเปรี้ยวยี่ห้อยาคูลท์ที่มียาไดอาซีแพมปลอมปนเพราะยาไดอาซีแพมเป็นวัตถุออกฤทธิ์อย่างหนึ่งในกลุ่มของเบนโซไดอะซีฟิน หากอยู่ในร่างกายมนุษย์แล้วจะมีตัวยาซึมอยู่ในร่างกายประมาณ 3 ถึง 4 วัน และสามารถตรวจสอบปัสสาวะได้ ประกอบกับโจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายกับ ซ. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริง คงมีเฉพาะคำให้การชั้นสอบสวนของบุคคลทั้งสองและคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุมเท่านั้น พยานโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย ไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้พกพาอาวุธมีดปลายแหลมแบบพับจำนวน1 เล่ม ไปตามถนนสุรวงศ์ อันเป็นทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าว เชื้อชาติปากีสถาน สัญชาติปากีสถาน มีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรไทย ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาวันที่ 7 มีนาคม 2540 จำเลยที่ 1 กับที่ 2 และนายคาลิด อุมมาด ซึ่งยังหลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันปล้นทรัพย์เอาสร้อยพลอยจำนวน 91 เส้น ของนายไฟ ซัลลาห์ คาน ผู้เสียหายไปในการปล้นทรัพย์ดังกล่าวจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ยาไดอาซีแพม ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 4 ปลอมปนใส่ในเครื่องดื่มให้ผู้เสียหายกับพวกดื่มกิน ทำให้ผู้เสียหายหมดสติอยู่ในภาวะขัดขืนไม่ได้ เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมด้วยมีดปลายแหลมแบบพับ 1 เล่ม และของเหลวบรรจุอยู่ในขวด 1 ขวด ซึ่งจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 340, 371 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 11, 12, 18, 41, 58, 62, 81 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคแรก, 83 จำคุกคนละ 12 ปี และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 11, 12, 18, 41, 58, 62 วรรคแรก,81 ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 3 เดือน รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด12 ปี 6 เดือน คำรับสารภาพชั้นจับกุมและคำให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 8 ปี 4 เดือน ริบของเหลวบรรจุอยู่ในขวด 1 ขวด ของกลาง ส่วนข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรกประกอบมาตรา 83 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบพยานโจทก์ว่า ในการปล้นทรัพย์จำเลยทั้งสองกับนายคาลิด อุมมาดพวกของจำเลยทั้งสองที่หลบหนีได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ยาไดอาซีแพมซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภทที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ปลอมปนใส่ในเครื่องดื่มนมเปรี้ยวยี่ห้อยาคูลท์ให้ผู้เสียหายกับนายเซอร์ วาลี คาน ดื่ม เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหมดสติอยู่ในภาวะขัดขืนไม่ได้ แล้วนายคาลิดได้เอาสร้อยพลอยจำนวน 91 เส้น ราคา36,400 บาท ของผู้เสียหายไป ผลการตรวจของเหลวขุ่นในขวดเครื่องดื่มนมเปรี้ยวยี่ห้อยาคูลท์ของกลางซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดได้ในที่เกิดเหตุปรากฏว่าเป็นยาไดอาซีแพม(Diazepam) จริง ตามรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.4 แต่ปรากฏข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพันตำรวจเอกนายแพทย์อมร ธนาอภินันทน์ พยานโจทก์ว่าหลังจากเกิดเหตุเพียงประมาณ 3 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนได้นำผู้เสียหายกับนายเซอร์ วาลี คาน มามอบให้พันตำรวจเอกนายแพทย์อมรตรวจร่างกายสาเหตุจากถูกมอมยาผลการตรวจนายเซอร์ วาลี คาน มีอาการซึม ถามแล้วไม่ค่อยตอบส่วนผู้เสียหายรู้สึกตัวเป็นปกติ จากการตรวจปัสสาวะของบุคคลทั้งสองไม่พบยานอนหลับซึ่งเป็นยาระงับประสาทกลุ่มเบนโซไดอะซีฟิน (Benzodiazepinee)หรือกลุ่มยากระตุ้นประสาทหรือระงับประสาทอื่น ๆ อีก 3 ชนิด ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลหรือศพของแพทย์เอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 จากผลการตรวจปัสสาวะของผู้เสียหายกับนายเซอร์ วาลี คาน ดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าขณะเกิดเหตุบุคคลทั้งสองมิได้ดื่มเครื่องดื่มนมเปรี้ยวยี่ห้อยาคูลท์ที่มียาไดอาซีแพมปลอมปนตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด เพราะยาไดอาซีแพมเป็นวัตถุออกฤทธิ์อย่างหนึ่งในกลุ่มของเบนโซไดอะซีฟินและร้อยตำรวจโทพงษ์จักร บูรณินทุ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตรวจของเหลวสีขาวขุ่นในขวดเครื่องดื่มนมเปรี้ยวยี่ห้อยาคูลท์ก็ได้เบิกความว่ายาไดอาซีแพมหากอยู่ในร่างกายมนุษย์แล้วจะมีตัวยาซึมอยู่ในร่างกายประมาณ 3 ถึง 4 วัน และสามารถตรวจสอบได้จากการตรวจปัสสาวะ แต่ในคดีนี้ได้มีการตรวจปัสสาวะของผู้เสียหายกับนายเซอร์ วาลี คาน หลังจากเกิดเหตุเพียงประมาณ 3 ชั่วโมง เท่านั้น หากบุคคลทั้งสองดื่มเครื่องดื่มนมเปรี้ยวยี่ห้อยาคูลท์ซึ่งมียาไดอาซีแพมปลอมปนอยู่จริงจะต้องตรวจพบได้จากปัสสาวะของบุคคลทั้งสองอย่างแน่นอน ประกอบกับโจทก์ก็ไม่สามารถนำผู้เสียหายกับนายเซอร์ วาลี คาน ซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงได้ พยานโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องคงมีเฉพาะคำให้การในชั้นสอบสวนของบุคคลทั้งสองตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ.5 จ.6 และคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุมตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 เท่านั้น แต่จำเลยทั้งสองก็ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาคดี พยานโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน