คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องขอกันส่วนเงินของจำเลยเป็นคำคู่ความ การยื่นคำร้องดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 จึงจะนำมาตราดังกล่าวมาใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้เพราะมาตรานี้มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่การยื่นคำคู่ความต่อศาล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่านายชัยกิจ ดีสมโชค สามีจำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์แล้วนำไปโอนที่ดินของโจทก์เป็นของตน โจทก์ได้ฟ้องนายชัยกิจเรียกที่ดินคืนและในที่สุดได้ประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 1เข้าเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ตามคำพิพากษา และต่อมานายชัยกิจผิดนัดโจทก์นำยึดที่ดินนายชัยกิจและจำเลยที่ 1 เพื่อขายทอดตลาด ต่อมาปี 2525จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายชัยกิจชนะคดีบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ กรุงเทพมหานคร จำกัดเป็นเงิน 28,000,000 บาท โจทก์ขออายัดเงินบางส่วนของเงินดังกล่าวจำนวน3,171,067.40 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายชัยกิจก็ทำบันทึกยินยอมให้โจทก์อายัดได้ ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันแจ้งความอันเป็นเท็จโดยยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอ้างว่า ตนเองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในเงินที่โจทก์ขออายัดไว้ เป็นบุคคลภายนอกคดีและมิได้ถูกบังคับคดีขอกันส่วนเงินที่โจทก์ขออายัดไว้คนละส่วนเป็นเงินคนละ 1,057,022.80 บาท โดยขอให้ศาลงดการจ่ายเงินไว้ก่อน ทำให้ศาลหลงเชื่อจึงได้สั่งงดการจ่ายให้โจทก์ไว้ก่อน ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณพิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำร้องขอกันส่วนเงินของจำเลยทั้งสองเป็นคำคู่ความที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องดังกล่าวก็เป็นการดำเนินการตามกระบวนวิธีพิจารณาความตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 จึงจะนำมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้ เพราะประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่การยื่นคำคู่ความต่อศาล ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share