คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 121/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมและจำเลยต่างมีความประสงค์จะซื้อจะขายรถยนต์โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะนำรถยนต์ของโจทก์ร่วมไปทดลองใช้ก่อน 7 วัน หากพอใจจำเลยจะนำเงินมาชำระให้โจทก์ร่วม ข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยส่อแสดงเจตนาว่าทั้งสองฝ่ายจะซื้อจะขายรถยนต์กันตั้งแต่เริ่มแรก การที่จำเลยได้รับมอบรถยนต์จากโจทก์ร่วมจึงเข้าลักษณะสัญญาซื้อขายเผื่อชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 505การที่โจทก์ร่วมส่งมอบรถยนต์ให้จำเลยทดลองขับ ถือว่าเป็นการตรวจดูแล้ว การซื้อขายย่อมเป็นอันบริบูรณ์ เพราะจำเลยมิได้บอกกล่าวว่าไม่ยอมรับซื้อและมิได้ส่งมอบรถยนต์คืนภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 508(1)(2) เมื่อปรากฏว่า ขณะที่รถยนต์ของโจทก์ร่วมหายไป และจำเลยยังมิได้ชำระราคารถยนต์แก่โจทก์ร่วมต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยืมรถยนต์หมายเลขทะเบียน ค – 8386 สงขลา จากนางสาววิภาดาหรือภนิดา ดิสสโร ผู้เสียหาย ซึ่งเช่าซื้อจากบริษัทเงินทุน หลังจากนั้นจำเลยได้เบียดบังเอารถยนต์ดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคารถยนต์เป็นเงิน950,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสาววิภาดา ดิสสโร ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคารถยนต์เป็นเงิน 950,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) ราคา 925,728 บาท จำเลยประสงค์จะซื้อรถยนต์จากโจทก์ร่วมโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยจะต้องนำรถยนต์ไปทดลองใช้ก่อน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2539 จำเลยได้รับมอบรถยนต์จากโจทก์ร่วมต่อมาจำเลยได้ขับรถยนต์มาทำธุระที่กรุงเทพมหานคร มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าจำเลยยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วมหรือไม่ โจทก์ร่วมเบิกความว่าจำเลยขอซื้อรถยนต์จากโจทก์ร่วมราคา 800,000 บาท โดยขอนำรถยนต์ไปทดลองใช้ก่อน หากพอใจจะชำระราคาให้ภายใน 7 วัน โจทก์ร่วมได้มอบรถยนต์ให้จำเลยไปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2539 เมื่อล่วงเลยกำหนดที่ตกลงกันจำเลยบอกแก่โจทก์ร่วมว่ารถยนต์ที่นำไปจอดไว้ที่หน้าห้างสรรพสินค้าโตคิว กรุงเทพมหานครหายไป จำเลยเบิกความว่า โจทก์ร่วมเสนอที่จะขายรถยนต์ให้แก่จำเลยในวันที่จำเลยได้รับมอบรถยนต์จากโจทก์ร่วม จำเลยได้เดินทางไปทำธุระที่กรุงเทพมหานคร เมื่อจำเลยจอดรถไว้ที่หน้าห้างสรรพสินค้าโตคิว ปรากฏว่ารถยนต์หายไป เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ร่วมและจำเลยเบิกความสอดคล้องต้องกันรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมและจำเลยต่างมีความประสงค์จะซื้อจะขายรถยนต์โดยมีการกำหนดราคาและเงื่อนไข จำเลยจะนำรถยนต์ของโจทก์ร่วมไปทดลองใช้ก่อน 7 วัน หากพอใจจำเลยจะนำเงินมาชำระให้โจทก์ร่วม ข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยส่อแสดงเจตนาว่าทั้งสองฝ่ายจะซื้อจะขายรถยนต์กันตั้งแต่เริ่มแรก การที่จำเลยได้รับมอบรถยนต์จากโจทก์ร่วมจึงเข้าลักษณะสัญญาซื้อขายเผื่อชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 505 หลังจากจำเลยรับมอบรถยนต์แล้วจำเลยเบิกความว่า ขณะนำรถยนต์มาจอดที่หน้าห้างสรรพสินค้าโตคิว รถยนต์หายไป จำเลยเข้าใจว่าทางเจ้าพนักงานตำรวจนำรถยนต์ไปเก็บ จึงตามไปที่สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง แต่ไม่พบรถยนต์ จำเลยได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ารถยนต์หายไป เจ้าพนักงานตำรวจอ้างว่าจะต้องให้เจ้าของรถยนต์ที่แท้จริงมาแจ้งความเอาเอง โจทก์ร่วมเบิกความว่า หลังจากครบกำหนด 7 วันได้ทวงถามจำเลย จำเลยบอกว่ารถยนต์หาย น่าเชื่อว่าขณะที่โจทก์ร่วมทวงถามจำเลยในเรื่องเงินเป็นระยะเวลาภายหลังที่รถยนต์หายไปไม่กี่วัน การที่เจ้าพนักงานตำรวจไม่รับแจ้งความเรื่องรถยนต์หาย ก็เป็นเหตุผลที่เจ้าพนักงานตำรวจจะปฏิเสธไม่รับแจ้งความเนื่องจากจำเลยไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ที่แท้จริง ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจต้องการให้เจ้าของรถยนต์มาแจ้งความ จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติวิสัยทางพิจารณาไม่ปรากฏพฤติการณ์ส่อแสดงเจตนาทุจริตของจำเลยว่ากุเรื่องรถยนต์หายเพื่อลวงโจทก์ร่วม ทางนำสืบของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมคงมีแต่คำเบิกความของโจทก์ร่วมผู้เดียวลอย ๆ ว่า จำเลยยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วม แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยเป็นเรื่องการซื้อขายเผื่อชอบ โจทก์ร่วมได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่จำเลยทดลองขับ ถือว่าเป็นการตรวจดูแล การซื้อขายย่อมเป็นอันบริบูรณ์ กล่าวคือ จำเลยมิได้บอกกล่าวว่าไม่ยอมรับซื้อและจำเลยมิได้ส่งมอบรถยนต์คืนภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 508(1)(2) ขณะที่รถยนต์ของโจทก์ร่วมหายไป และจำเลยมิได้ชำระราคารถยนต์แก่โจทก์ร่วม เป็นเรื่องจะต้องไปว่ากล่าวในทางแพ่งต่างหาก การกระทำไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share