แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท แม้โจทก์จะกล่าวในฟ้องว่าโจทก์สามารถนำที่พิพาทไปสร้างอาคารพาณิชย์จะได้รับประโยชน์อัตราเดือนละ 20,000 บาท และโจทก์ใช้เป็นเกณฑ์เรียกค่าเสียหายตามจำนวนนั้น ซึ่งศาลชั้นต้นก็กำหนดค่าเสียหายให้เดือนละ 5,000 บาท ก็ตาม แต่เมื่อตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินมีการกำหนดอัตราค่าเช่ากันชัดเจนเดือนละ 500 บาท เช่นนี้แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาว่าอาจให้เช่าได้ค่าเช่าจำนวนเท่าใดอีก ต้องฟังว่าที่พิพาทมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นในเรื่องการกำหนดค่าเสียหายของศาล เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 บัญญัติให้ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปและเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกได้ โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตาย มีอำนาจจัดการเกี่ยวแก่ที่พิพาทซึ่งเป็นมรดกของ ส. ได้ตามกฎหมาย จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาททุกคนก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินจากนางสาวสงวน เมืองทองมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2539 อัตราค่าเช่าเดือนละ 500 บาท เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดแล้ว จำเลยและบริวารไม่ยอมออกจากที่ดินที่เช่า ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่61849 ตำบลบางหว้า (ตำบลปากคลองภาษีเจริญ) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน และใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนถึงวันขนย้ายออกเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาท โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคนให้ฟ้อง นางสาวสงวนได้ทำสัญญาจะขายที่พิพาทแก่นายเกรียงไกร เตยพรมทอง สามีจำเลย โดยรับเงินมัดจำไปแล้วจำนวน 50,000 บาท จะโอนให้สามีจำเลยภายใน 3 ปี นับแต่วันทำสัญญา ต่อมานางสาวสงวนถึงแก่ความตายก่อนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้นายเกรียงไกร จำเลยเคยขอให้โจทก์ขายที่พิพาทให้จำเลยตามสัญญาจะซื้อขายเดิม แต่โจทก์ไม่ยอม โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเนื่องจากยังไม่ได้นำที่พิพาทไปสร้างอาคารพาณิชย์แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 61849 ตำบลบางหว้า (ตำบลปากคลองภาษีเจริญ) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน ให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องวันที่ 19 กันยายน 2539 ไปจนถึงวันรื้อถอนขนย้ายออกเสร็จสิ้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่พิพาทจากนางสาวสงวน ตกลงค่าเช่าเดือนละ 500 บาท ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.8
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาจำเลยว่า คดีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท แม้โจทก์จะกล่าวในฟ้องว่าโจทก์สามารถนำที่พิพาทไปสร้างอาคารพาณิชย์จะได้รับประโยชน์อัตราเดือนละ 20,000 บาท และโจทก์ใช้เป็นเกณฑ์เรียกค่าเสียหายตามจำนวนนั้น ซึ่งศาลชั้นต้นก็กำหนดค่าเสียหายให้เดือนละ 5,000 บาท ก็ตาม แต่เมื่อมีการกำหนดอัตราค่าเช่ากันชัดเจนเดือนละ 500 บาท ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.8 เช่นนี้แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาว่าอาจให้เช่าได้ค่าเช่าจำนวนเท่าใดอีก ดังนี้ ต้องฟังว่าที่พิพาทมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นในเรื่องการกำหนดค่าเสียหายของศาล จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นชอบแล้ว
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719บัญญัติให้ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปและเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกได้ เมื่อโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวสงวนผู้ตายจึงมีอำนาจจัดการเกี่ยวแก่ที่พิพาทซึ่งเป็นมรดกของนางสาวสงวนได้ตามกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาททุกคนก่อน
พิพากษายืน