แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ช. เป็นผู้กรอกข้อความลงในเช็คพิพาท และลงวันที่ในเช็คหลังจากจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คแล้ว โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยไม่ได้ลงวันที่ในเช็ค เช็คพิพาทจึงไม่มีรายการวันออกเช็ค หรือวันจ่ายเงินอันเป็นวันกระทำความผิดหรือวันเกิดเหตุ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988(6)บังคับให้ต้องมีรายการนี้ เมื่อไม่มีรายการนี้ตั้งแต่ขณะที่ออกเช็ค จึงเป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 910 วรรคหนึ่ง,989 วรรคหนึ่ง แม้ผู้ทรงเช็คสามารถลงวันที่ได้เองลับหลังผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 910 วรรคท้าย,989 วรรคหนึ่ง ก็เป็นเพียงวิธีการในทางแพ่งเพื่อให้เช็คเรียกเก็บเงินได้ เมื่อเช็คพิพาทไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ขณะที่ออกเช็ค ผู้ออกเช็คก็ย่อมไม่มีความผิดทางอาญา
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาพิพากษา
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการมีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษ จำคุกกระทงละ 20 วัน รวม 6 กระทง จำคุก 120 วัน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ คดีมีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่านางชุติมาเป็นผู้กรอกข้อความลงในเช็คพิพาท และลงวันที่ในเช็คหลังจากจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คแล้วโดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยไม่ได้ลงวันที่ในเช็ค เช็คพิพาทจึงไม่มีรายการวันออกเช็คหรือวันจ่ายเงินอันเป็นวันกระทำความผิดหรือวันเกิดเหตุ ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988(6) บังคับให้ต้องมีรายการนี้ เมื่อไม่มีรายการนี้ตั้งแต่ขณะที่ออกเช็คจึงเป็นเช็คที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 วรรคหนึ่ง, 989 วรรคหนึ่ง แม้ผู้ทรงเช็คสามารถลงวันที่ได้เองลับหลังผู้สั่งจ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 วรรคท้าย, 989 วรรคหนึ่ง ก็เป็นเพียงวิธีการในทางแพ่งเพื่อให้เช็คเรียกเก็บเงินได้ เมื่อเช็คพิพาทไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ขณะที่ออกเช็ค ผู้ออกเช็คก็ย่อมไม่มีความผิดทางอาญา จำเลยที่ 2จึงไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน