คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6612/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องอุทธรณ์ต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 ประกอบมาตรา 246คือต้องเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้องอุทธรณ์ไว้แล้วแต่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมจึงจะกระทำได้ คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นมิได้รับคำฟ้องอุทธรณ์จึงไม่มีตัวคำฟ้องอุทธรณ์ที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมได้
การที่จะสั่งงดการบังคับคดีได้จะต้องมีเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292,293,294 หรือ 296ตามคำร้องของจำเลยเพียงแต่ขอให้งดการบังคับคดีไว้จนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องอุทธรณ์เสียก่อนนั้น จำเลยไม่ได้ระบุอ้างเหตุตามกฎหมายดังกล่าวไว้ จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งยกคำร้องของจำเลย

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยแล้วปรากฏว่านายงา จอกแก้ว เป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียบและพิมพ์ แต่ปรากฏว่าในใบแต่งทนายความนายงาทนายจำเลยไม่มีอำนาจที่จะใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 62 จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยต่อมาเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์แล้วจำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขอุทธรณ์โดยขออนุญาตให้นายวีร์ สมิตเวช ทนายความที่มีอำนาจได้ลงชื่อในอุทธรณ์

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เนื่องจากศาลสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยแล้วจึงไม่อาจที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขอุทธรณ์ให้ถูกต้องตามขอได้ ให้ยกคำร้อง

ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นงดการบังคับคดีไว้จนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งเสียก่อน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อไม่มีการทุเลาการบังคับก็ไม่มีเหตุที่จะงดการบังคับคดี ให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งทั้ง 2 ฉบับ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์โดยให้ทนายความผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องอุทธรณ์ต้องอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 ประกอบมาตรา 246คือจะต้องเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้องอุทธรณ์ไว้แล้วแต่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมจึงจะกระทำได้ เมื่อศาลชั้นต้นมิได้รับคำฟ้องอุทธรณ์ จึงไม่มีตัวคำฟ้องอุทธรณ์ที่จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมทั้งจะเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นก็กระทำมิได้เพราะศาลชั้นต้นมิได้สั่งโดยผิดระเบียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยประการหลังมีว่า ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่จะสั่งงดการบังคับคดีได้จะต้องมีเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292, 293,294 หรือ 296 ตามคำร้องของจำเลยเพียงแต่ขอให้งดบังคับคดีไว้จนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งเสียก่อน ไม่ได้ระบุอ้างเหตุตามกฎหมายดังกล่าวไว้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของจำเลยทั้ง 2 ฉบับ จึงชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share