คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4114/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 1(ลูกหนี้) ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้วย่อมหมดอำนาจ ที่จะดำเนินกิจการงานของตนต่อไป แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจัดการหรือกระทำการ ที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 1 ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปแทน จำเลยที่ 1 และไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าลูกจ้างของลูกหนี้ หมดสิทธิที่จะทำงานให้ลูกหนี้ต่อไปดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 บอกเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 เงินค่าชดเชยซึ่งกฎหมายแรงงานบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องจ่าย ให้แก่โจทก์นั้นเกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ย่อมเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระได้ตามมาตรา94 แห่ง พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้จัดการกิจการทรัพย์สินแทน จำเลยที่ 1 แล้วเกิดมีเงินที่กฎหมายบังคับให้จ่ายเกิดขึ้น จำเลยที่ 2 ก็มีหน้าที่ต้องเอาเงินของจำเลยที่ 1 จ่ายแทนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้จ่ายเงินค่าชดเชยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1 ต่อมาศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไว้ชั่วคราว หลังจากนั้นโจทก์ยังคงทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อไป จนกระทั่งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายเงินค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีหนึ่งแล้ว บรรดากิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวแล้วจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจดำเนินกิจการมีผลให้พนักงานจำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำงานต่อไปได้เป็นไปโดยผลของกฎหมายมิใช่เป็นเรื่องจำเลยที่ 2 บอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิทธิหรือมูลหนี้ในเงินค่าชดเชยจะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานแล้ว มิใช่เกิดก่อนมีการเลิกจ้างก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวของจำเลยที่ 1 ยังมิได้มีการเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด มูลแห่งหนี้จึงเกิดขึ้นภายหลังจากการสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวจึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับได้ในคดีล้มละลายตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 โจทก์จึงไม่มีอำนาาจฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 26 และจำเลยที่ 2 ไม่จำต้องเข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 25 และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้จะกระทำได้ต่อเมื่อศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจนำทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลายมาชำระหนี้ต่อโจทก์ในคดีนี้ได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย และโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 แล้ว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้วย่อมหมดอำนาจที่จะดำเนินกิจการงานของตนต่อไปก็จริง แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจตามกฎหมายที่จะจัดการหรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปแทนลูกหนี้ หามีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าลูกจ้างของลูกหนี้หมดสิทธิที่จะทำงานให้ลูกหนี้ต่อไปไม่ ดังจะเห็นได้ว่า ในคดีนี้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราววันที่ 15 มิถุนายน 2527 โจทก์ก็ยังทำให้ลูกหนี้และได้รับค่าจ้างเรื่อยมาจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2527 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงแจ้งให้โจทก์หยุดทำงาน ดังนี้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ตามกฎหมายแรงงานจึงชอบแล้ว ส่วนเงินค่าชดเชยซึ่งกฎหมายแรงงานบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายให้โจทก์นั้นเกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วย่อมเห็นได้ว่าเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระได้ตามมาตรา 94 แต่เมื่อจำเลยที่ 2เป็นผู้จัดการกิจการทรัพย์สินแทนจำเลยที่ 1 แล้วเกิดมีเงินที่กฎหมายบังคับให้จ่ายเกิดขึ้น จำเลยที่ 2 ก็มีหน้าที่ต้องเอาเงินของจำเลยที่ 1 จ่ายแทนจำเลยที่ 1ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
พิพากษายืน

Share