คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3999/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่คู่สัญญาตกลงทำสัญญาเป็นหนังสือ เจตนาของคู่สัญญาซึ่งประสงค์จะให้สัญญามีผลผูกพันกันอย่างไร ย่อมแสดงออกโดยข้อความในสัญญาโจทก์ทำสัญญาเป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยมีหน้าที่ชักชวนบุคคลเข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยหรือที่เรียกว่าขายประกันชีวิต ข้อความในสัญญาระบุว่าตัวแทนประกันชีวิตไม่มีอำนาจออกกรมธรรม์หรือสัญญาประกันชีวิตแทนบริษัท และความผูกพันระหว่างบริษัทกับตัวแทนประกันชีวิตเป็นไปในฐานะตัวการกับตัวแทนรับมอบอำนาจเฉพาะการเท่านั้นไม่ใช่ในฐานะบริษัทกับพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท ดังนี้เห็นได้ว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะผูกพันต่อกันในฐานะเป็นตัวการกับตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ3 ลักษณะ 15 หาได้มีความประสงค์จะผูกพันกันอย่างลูกจ้างกับนายจ้างไม่ นอกจากนี้ฐานะและสิทธิของโจทก์ก็ยังแตกต่างจากลูกจ้างของจำเลยโดยโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจาก การขายประกันชีวิตตอบแทนเป็นรายๆไปและมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามระเบียบสำหรับตัวแทนประกันชีวิตโดยเฉพาะโจทก์ไม่มีสิทธิ ได้รับผลประโยชน์ เช่นโบนัสค่าครองชีพ หรือเบี้ยเลี้ยงเช่นลูกจ้างทั่วไป ของจำเลยแม้จำเลยจะจัดให้โจทก์สังกัดหน่วยงานของจำเลย และโจทก์ต้องลงเวลาทำงานเมื่อขาดงานต้องลาหรือขออนุญาตผู้บังคับบัญชา ก็เป็นเรื่องปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาเพื่อให้ กิจการของจำเลยมีประสิทธิภาพและรัดกุมซึ่งโจทก์จำเลย ทำความตกลงกันได้มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องทำงานตามคำสั่ง หรือการบังคับบัญชาของจำเลย ทั้งไม่ปรากฏว่ากรณีที่โจทก์ฝ่าฝืน ต่อระเบียบดังกล่าวจำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์เป็นประการอื่นนอกจาก เลิกสัญญา ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อจำเลย เลิกจ้างโจทก์เพราะผลงานของโจทก์ต่ำกว่าข้อกำหนดโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าชดเชย ค่าจ้าง และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำประเภทรายเดือน ครั้งสุดท้ายโจทก์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประกันชีวิตระดับมีได้รับค่าจ้างเดือนละ 4,000 บาท ค่านายหน้าจากการขายประกันชีวิตเดือนสุดท้าย 2,868.74 บาท ค่าพาหนะในการเก็บเบี้ยประกันชีวิตอีกเดือนละ 200 บาท เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2528จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะผลงานของโจทก์ต่ำกว่าข้อกำหนด โดยจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชย 42,408 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 11,750 บาท และค่าจ้างประจำเดือนมกราคม 2528 จำนวน 10 วัน เป็นเงิน 2,350 บาท รวมเป็นเงิน56,508 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ตกลงจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ แต่โจทก์เป็นตัวแทนนประกันชีวิตของจำเลยมีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากการหาประกันชีวิตมาให้จำเลยเป็นค่าตอบแทน โจทก์กับจำเลยมีความผูกพันกันในฐานะเป็นตัวการตัวแทน ไม่ใช่ในฐานะลูกจ้างนายจ้าง เงินซึ่งจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เดือนละ 4,000 บาทนั้น ไม่ใช่เงินเดือนหรือค่าจ้างแต่เป็นเงินทดรองจ่าย ซึ่งโจทก์ต้องชำระคืนเมื่อได้รับค่านายหน้า จำเลยไม่เคยตกลงจะจ่ายค่าพาหนะให้โจทก์เหตุที่จำเลยเลิกสัญญาเพราะโจทก์มิได้ต่ออายุใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิตซึ่งเป็นการขาดคุณสมบัติที่จะเป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า กรณีที่คู่สัญญาตกลงทำสัญญาเป็นหนังสือเจตนาของคู่สัญญาซึ่งประสงค์จะให้สัญญามีผลผูกพันอย่างไร ย่อมแสดงออกโดยข้อความในสัญญา ตามสัญญาตัวแทนประกันชีวิต “สะสมเงินเดือน” ระหว่าง โจทก์จำเลย ระบุว่าตัวแทนประกันชีวิตไม่มีอำนาจออกกรมธรรม์หรือสัญญาประกันชีวิตแทนบริษัท และความผูกพันระหว่างบริษัทกับตัวแทนประกันชีวิตเป็นไปในฐานะตัวการกับตัวแทนรับมอบอำนาจเฉพาะการเท่านั้น มิใช่ในฐานะบริษัทกับพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามข้อสัญญาดังกล่าว เห็นได้ว่าการที่จำเลยแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนประกันชีวิตหรือโจทก์รับเป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยโจทก์กับจำเลยมีเจตนาที่ผูกพันต่อกันในฐานะเป็นตัวการกับตัวแทนตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ15 ตัวแทน หาได้มีความประสงค์จะผูกพันกันอย่างลูกจ้างกับนายจ้างไม่ นอกจากนี้การที่โจทก์เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลย โจทก์ได้รับแต่ค่านายหน้าจากการขายประกันชีวิตเป็นบำเหน็จตอบแทนเป็นราย ๆ ไป ถึงแม้โจทก์จะมีสิทธิได้รับประโยชน์อื่น ตามระเบียบว่าด้วยระบบงานขาย และกำหนดผลประโยชน์ในการขายประกันชีวิตแบบสะสมเงินเดือน พ.ศ. 2526 ก็ตาม แต่ก็เป็นระเบียบที่จำเลยกำหนดขึ้นใช้เฉพาะตัวแทนประกันชีวิต มิได้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างทั่วไปของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์อื่นดังลูกจ้างทั่วไปของจำเลย เช่น โบนัส ค่าครองชีพ หรือเบี้ยเลี้ยง เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า จำเลย แบ่งแยกผู้ที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตออกจากผู้ที่เป็นลูกจ้างของจำเลย ฐานะและสิทธิของโจทก์จึงแตกต่างจากลูกจ้างของจำเลยข้อที่โจทก์ต้องลงเวลามาทำงาน กรณีที่ไม่มาทำงานโจทก์ต้องขอลาหรือขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาหรือจำเลยจัดให้โจทก์สังกัดหน่วยงานของจำเลยนั้น เป็นเรื่องโจทก์กับจำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาและเพื่อให้กิจการของจำเลยมีประสิทธิภาพและรัดกุม โจทก์กับจำเลยจึงทำความตกลงกันได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องทำงานตามคำสั่งหรือการบังคับบัญชาของจำเลย อีกประการหนึ่ง ไม่ปรากฏว่า กรณีที่โจทก์ฝ่าฝืนต่อระเบียบดังกล่าว จำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์เป็นประการอื่นนอกเหนือจากการเลิกสัญญา ข้อที่จำเลยจ่ายค่านายหน้าให้แก่โจทก์ตามผลงานนั้นไม่พอถือว่าจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ในฐานะที่มีความสัมพันธ์เป็นลูกจ้างนายจ้าง ดังนั้น การที่โจทก์เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลย จึงถือไม่ได้ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share