แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 รับจ้างออกแบบบ้านและมีหน้าที่จัดหาวิศวกรคำนวณ โครงสร้างบ้านและเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างบ้านของโจทก์จนแล้วเสร็จ ปรากฏต่อมาว่าบ้านโจทก์ชำรุดเสียหายเพราะเกิดจากการก่อสร้างตาม แบบแปลนและรายการคำนวณโครงสร้างทาง วิศวกรรมที่ไม่ถูกต้อง ตามหลักวิชาซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิด
เมื่อบ้านโจทก์เกิดรอยร้าวขึ้นตอนแรกที่ผนังบ้านจำเลยมาตรวจดู แล้วแจ้งให้โจทก์ทราบว่ารอยร้าวเป็นธรรมดาของบ้านปลูกใหม่ ซึ่งโจทก์ก็เชื่อตามที่จำเลยแจ้งให้ทราบจนกระทั่งเดือนมีนาคม 2520 บ้านโจทก์มีความชำรุดเกิดมาก ขึ้นผิดปกติโจทก์ให้วิศวกรมาตรวจดู จึงทราบจากวิศวกรที่มาตรวจว่าความชำรุดเสียหายเกิดขึ้นผิดปกติธรรมดา และเป็นอันตรายมากแสดงว่าโจทก์เพิ่งทราบถึงการชำรุดบกพร่องของบ้านเมื่อเดือนมีนาคม 2520 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 30ธันวาคม 2520 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าโจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างบ้านพักอาศัย โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาวิศวกรคำนวณโครงสร้างขออนุญาตก่อสร้างและหาผู้รับเหมาให้โจทก์โดยตกลงค่าจ้างอัตราร้อยละ 5 ของราคาค่าก่อสร้าง เมื่อออกแบบเสร็จแล้วจำเลยที่ 1 ได้แนะนำให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเหมาแล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทุจริตโดยก่อสร้างอาคารไม่ตรงตามแบบแปลน โดยจำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 2 ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้ขออนุญาตไว้จนกระทั่งการก่อสร้างเสร็จ โจทก์ได้รับมอบอาคารดังกล่าวไว้ เมื่อเดือนธันวาคม2517 และเข้าพักอาศัย อาคารดังกล่าวเกิดชำรุดบกพร่อง แตกร้าว ครั้นถึงเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม 2520 วิศวกรมีความเห็นว่าอาคารมีความชำรุดมากอยู่ในขั้นเป็นอันตราย โครงสร้างอาจพัง เป็นเหตุให้โจทก์ต้องซ่อมแซม เมื่อซ่อมแล้วก็ขาดความสวยงามและอาคารก็เสื่อมค่าลง โจทก์เพิ่งทราบถึงความเสียหายเมื่อเดือนมีนาคม 2520 จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 713,800 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้รับจ้างออกแบบบ้านให้โจทก์ตามความประสงค์และงบประมาณของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงรับจ้างควบคุมการก่อสร้างบ้านของโจทก์ ไม่เคยตกลงจัดหาวิศวกรมาคำนวณโครงสร้างบ้านของโจทก์ ไม่เคยตกลงจัดการขออนุญาตก่อสร้างอาคารให้โจทก์ ไม่เคยแนะนำผู้ก่อสร้างอาคารให้แก่โจทก์โจทก์เป็นผู้ตกลงว่าจ้างโดยวิธีสืบราคาจากผู้รับเหมาหลายราย จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับรองฝีมือและความสามารถของจำเลยที่ 2 สัญญาจ้างเหมาท้ายฟ้องไม่สมบูรณ์จำเลยที่ 1 ไม่เคยร่วมทุจริตในการก่อสร้างอาคารบ้านโจทก์ โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างผู้ก่อสร้าง และจัดหาผู้ควบคุมการก่อสร้าง พร้อมทั้งจัดหาวิศวกรและสถาปนิกมาควบคุมการก่อสร้างเองทั้งสิ้น จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามมาตรฐานการปฏิบัติตามวิชาชีพ โดยการตรวจการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบแปลนและแนะนำช่างให้ก่อสร้างตามข้อบังคับของวิชาชีพ การที่บ้านโจทก์เกิดการชำรุดแตกร้าวมิได้เกิดจากการออกแบบแปลนของจำเลยที่ 1 ผิดพลาด แต่เกิดจากโจทก์เก็บหนังสือไว้ในบ้านมีน้ำหนักถึง 5.5 ตันซึ่งมากเกินสมควร โจทก์ได้ก่อสร้างถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ติดกับตัวอาคารมีน้ำหนักถึง 65 ตันน ซึ่งกระทบกระเทือนต่อฐานรากและโครงสร้างของอาคารอย่างมาก และการชำรุดของอาคารเกิดขึ้นตามธรรมชาติตามกาลเวลาอีกส่วนหนึ่งด้วย บ้านของโจทก์อาจซ่อมแซมได้ ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เมื่อจำเลยที่ 2 พ้นความรับผิดจำเลยที่ 1 ก็ย่อมพ้นความรับผิดด้วย ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้ก่อสร้างบ้านให้โจทก์ถูกต้องตามแบบแปลนที่โจทก์มอบหมายให้และถูกต้องตามสัญญา จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1ทุจริตก่อสร้างบ้านโจทก์ให้ผิดไปจากแบบแปลน โจทก์ได้รับมอบบ้านไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2517 โดยไม่ทักท้วง หลังจากนั้นโจทก์ได้ตกแต่งและต่อเติมบ้านนอกเหนือจากสัญญาจนเกิดความเสียหายขึ้น จำเลยที่ 2 ได้ซ่อมแซมจนอยู่ในสภาพดีแล้ว หากจะมีความเสียหายเกิดขึ้นอีกก็เป็นไปตามสภาพของบ้านที่ปลูกใหม่และค่าเสียหายไม่เกิน 30,000 บาท แบบแปลนบ้านโจทก์ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงผิดไปจากแบบแปลนที่ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 โจทก์พบความชำรุดบกพร่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 คดีโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ตกลงสัญญาว่าจะรับผิดซ่อมแซมอาคารที่ชำรุดเสียหายให้ภายใน 6 เดือน แต่ปรากฏว่าโจทก์รับมอบอาคารไว้เกิน 6 เดือนแล้ว จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิด บ้านของโจทก์ไม่เสื่อมสภาพ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายหากเรียกร้องได้ก็ไม่เกิน 1,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายจำนวน 613,803 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เชื่อได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างออกแบบบ้านและมีหน้าที่จัดหาวิศวกรคำนวณโครงสร้างบ้านและเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างบ้านของโจทก์จนแล้วเสร็จ เมื่อปรากฏต่อมาว่าบ้านของโจทก์ชำรุดเสียหายมากทั้งหลังจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเชื่อได้ว่าบ้านโจทก์ชำรุดเสียหายมากทั้งหลังตามที่โจทก์นำสืบมาซึ่งตรงตามที่ศาลชั้นต้นได้ไปเผชิญสืบมาตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2521 จำเลยที่ 1 ก็นำสืบรับว่าบ้านโจทก์ทรุดแตกร้าวเสียหายจริง นายสุวิชญ์ รัศมิภูติ นายพิบูลย์ จินารัตน์ พยานโจทก์ซึ่งได้ไปตรวจสภาพบ้านของโจทก์แล้วมีความเห็นตรงกันว่า บ้านโจทก์ชำรุดเสียหายมากทั้งหลังอันเกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ แบบแปลนการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามหลักวิชา หรือมิฉะนั้นช่างผู้ก่อสร้างก่อสร้างไม่ตรงตามแบบแปลน เห็นว่านายสุวิชญ์ นายพิบูลย์เป็นผู้เชี่ยวชาญทางการก่อสร้างและมีประสบการณ์มานานทั้งเป็นอาจารย์ในทางวิศวกรรมอยู่ในมหาวิทยาลัย ประกอบกับไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสองนี้มีสาเหตุกับจำเลยที่ 1 คำเบิกความดังกล่าวจึงมีน้ำหนักนายไพโรจน์ มหพันธ์ พยานโจทก์อีกคนหนึ่งเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2517 จำเลยที่ 1 ได้นำแบบแปลนบ้านและรายการคำนวณโครงสร้างบ้านโจทก์มาให้ตรวจทบทวน นายไพโรจน์ตรวจแล้วพบว่า รายการคำนวณของวิศวกรคนเดิมไม่ถูกต้องมากจนไม่อาจแก้ไขได้ จึงต้องทำรายการคำนวณให้ใหม่1 ชุด คำเบิกความของนายไพโรจน์ตรงกับคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่ให้การไว้ต่ออนุกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6จึงน่าเชื่อว่ารายการคำนวณโครงสร้างบ้านที่จำเลยที่ 1 จัดทำไว้เดิมไม่ถูกต้องตามหลักวิชา จึงต้องนำมาให้นายไพโรจน์ตรวจแก้ไข ซึ่งตามคำเบิกความของผู้รับเหมาก่อสร้างคือจำเลยที่ 2 ว่า ขณะนั้นได้ก่อสร้างบ้านโจทก์ไปมากแล้วเพราะเริ่มลงมือก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2517 จึงเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 2 ก่อสร้างบ้านโจทก์โดยอาศัยแบบแปลนและรายการคำนวณโครงสร้างที่ไม่ถูกต้องซึ่งจำเลยที่ 1 ทำไว้แต่เดิม และคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมสอบสวนแล้ว มีความเห็นว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ที่มิได้ปฏิบัติงานตามหลักวิชาแล้วมีคำสั่งให้ลงโทษพักใบอนุญาตของจำเลยที่ 1มีกำหนด 1 ปี ได้ความแน่ชัดดังกล่าวแล้วจึงเชื่อได้ว่า บ้านโจทก์ชำรุดเสียหายเกิดจากการก่อสร้างตามแบบแปลนและรายการคำนวณโครงสร้างทางวิศวกรรมที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชา ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิด
ส่วนเรื่องค่าเสียหายนั้น เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดมานั้นเหมาะสมแล้ว
จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์รู้ถึงความเสียหายตั้งแต่เดือนมกราคม 2518แล้ว เพิ่งนำคดีมาฟ้อง คดีโจทกืจึงขาดอายุความ พิเคราะห์แล้วได้ความว่า เมื่อบ้านโจทก์เกิดรอยร้าวขึ้นตอนแรกที่ผนังบ้าน จำเลยทั้งสองมาตรวจดูแล้วแจ้งให้โจทก์ทราบว่ารอยร้าวเป็นธรรมดาของบ้านปลูกใหม่ ซึ่งโจทก์ก็เชื่อตามที่จำเลยทั้งสองแจ้งให้ทราบจนกระทั่งเดือนมีนาคม 2520 บ้านโจทก์มีความชำรุดเกิดมากขึ้นผิดปกติ โจทก์จึงได้เชิญนายธารา โรจน์ธนะ วิศวกรมาตรวจดู จึงทราบจากนายธาราว่าความชำรุดเสียหายเกิดขึ้นผิดปกติธรรมดาและเป็นอันตรายมาก แสดงว่าโจทก์เพิ่งทราบถึงการชำรุดบกพร่องของบ้านเมื่อเดือนมีนาคม 2520 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม2520 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน