คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3483/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยพา บ.ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นภริยาโจทก์ไปร่วมประเวณี แม้บ.จะยินยอมสมัครใจร่วมประเวณี กับจำเลยก็ถือว่าจำเลยกระทำล่วงเกิน ภริยาโจทก์ไปในทำนอง ชู้สาวจำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ และการที่จำเลยพาภริยาโจทก์ไปร่วมประเวณีดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ผู้เป็นสามีได้รับความเสื่อมเสียทั้งด้านจิตใจเกียรติยศและชื่อเสียง ซึ่งไม่อาจคิดเป็นราคาเงินได้การกำหนดค่าทดแทนให้เพียงใดย่อมแล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2522 โจทก์ขายพลอยแดง 1 เม็ด ให้แก่นายสนิท สุริการ ในราคา 450,000 บาท โดยตกลงซื้อขายกันที่ธนาคาร จำเลยที่ 1สาขาขลุง จำเลยที่ 2 ผู้จัดการธนาคารอยู่และรู้เห็นด้วย นายสนิทชำระค่าพลอยด้วยเช็คจำเลยที่ 1 สาขาขลุง ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2522 โจทก์ถามจำเลยที่ 2ว่าเช็คที่นายสนิทสั่งจ่ายมีเงินในบัญชีพอจ่ายหรือไม่ จำเลยที่ 2 ว่ามีพอจ่ายโจทก์จึงขายพลอยให้นายสนิทและรับเช็คไว้ วันเดียวกันนั้นโจทก์เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับจำเลยที่ 1 โดยนำเช็คของนายสนิทจำนวนเงิน 450,000 บาทฝากเข้าบัญชี และจำเลยได้มอบสมุดเช็คให้โจทก์ไว้ และในวันเดียวกันนั้นโจทก์เปิดบัญชีเงินฝากประจำกับจำเลยที่ 1 ด้วย โดยสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน จำนวนเงิน 400,000 บาทและนำเงินสดอีก 300,000 บาท ฝากเข้าบัญชี ต่อมาโจทก์ได้นำเงินสดจำนวน 60,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากประจำอีกและได้ถอนไปแล้ว 10,000 บาท คงเหลือเงินในบัญชีเงินฝากประจำ 750,000 บาทต่อมาโจทก์ขอถอนเงิน 749,900 บาท จากบัญชีเงินฝากประจำ แต่จำเลยจะจ่ายให้เพียง 299,900 บาท โดยอ้างว่าเช็คของนายสนิทเรียกเก็บเงินไม่ได้ ต้องตัดยอดเงินจากบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์ออก 450,000 บาท การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากเช็คของนายสนิทสามารถเรียกเก็บเงินได้จนจำเลยรับฝากเงินไว้เรียบร้อยแล้ว ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 450,000บาทให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2522จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า การซื้อขายพลอยระหว่างโจทก์กับนายสนิท สุริการจำเลยไม่เคยเกี่ยวข้องด้วย ไม่ได้ทำกันที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาขลุง โจทก์ไม่ได้ถามจำเลยว่านายสนิทมีเงินในบัญชีพอจ่ายหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับรองแก่โจทก์ว่านายสนิทมีเงินในบัญชีพอจ่าย ในวันที่ 16 ตุลาคม 2522 โจทก์นำเช็คของนายสนิทสั่งจ่ายเงินรวม 450,000 บาท ไปขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับจำเลยที่ 1 และในวันนั้นโจทก์ขอเปิดบัญชีเงินฝากประจำด้วย โดยเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน 400,000 บาท และนำเงินสดอีก 300,000 บาทมาเปิดบัญชี ต่อมาปรากฏว่าเช็คที่โจทก์นำมาเข้าบัญชีไม่มีเงินในบัญชีพอจ่ายจำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว และโจทก์ได้รับเช็คคืนไปแล้วโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ทั้งไม่ได้บรรยายว่าได้รับความเสียหายอย่างไร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 450,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละแปดต่อปี นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม2522 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระเงิน450,000 บาทให้โจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2522โจทก์กับนายสนิทไปตกลงซื้อขายพลอยกันที่ธนาคารจำเลยที่ 2 สาขาขลุงต่อหน้าจำเลยที่ 2 โจทก์รับเช็คเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จากนายสนิทและสามารถนำเข้าเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันได้เพราะจำเลยที่ 2 รับรองว่านายสนิทมีเงินอยู่ในบัญชีพอที่จะใช้เงินตามเช็คดังกล่าวได้ แม้ความจริงนายสนิทจะไม่มีเงินอยู่ในบัญชี แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 2 สาขาขลุงมีอำนาจผ่านเงินทางบัญชีให้นายสนิทซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารไปก่อนได้ โดยถือว่านายสนิทขอเบิกเงินเกินบัญชีชั่วคราวตามข้อตกลงในคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ข้อ 10 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่าเคยผ่านเงินทางบัญชีให้นายสนิทมาก่อนแล้ว ข้อที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่า เช็คเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อสิ้นวันที่ 16 ตุลาคม 2522 และธนาคารทำใบคืนเช็คแจ้งให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย ล.12 แผ่นที่ 2 ที่ 3 นั้น ขัดต่อเหตุผลและแตกต่างกับคำของนายศรีพงษ์ พยานจำเลยเพราะเช็คดังกล่าวเป็นของนายสนิทซึ่งเป็นลูกค้าจำเลยที่ 1 สาขาขลุง จำเลยที่ 2 ย่อมตรวจสอบได้ทันทีว่าเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้ ชอบที่จะปฏิเสธการจ่ายเงินทันที ไม่จำต้องรอให้สิ้นวันที่ 16ตุลาคม 2522 และนายศรีพงษ์เบิกความว่า เมื่อทำใบคืนเช็คตามเอกสารหมาย ล.12แผ่นที่ 2 ที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 2 ว่ายังไม่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้อีกว่าจำเลยไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ในวันดังกล่าวและถือได้ว่าเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินได้ การเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์จึงสมบูรณ์ และการที่โจทก์ใช้เช็คสั่งจ่าย 400,000 บาท จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเปิดเข้าบัญชีเงินฝากประจำก็เป็นการสมบูรณ์เช่นกัน ข้อที่จำเลยให้การและจำเลยที่ 2 เบิกความทำนองว่า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2522 โจทก์ถอนเงิน749,900 บาท จากบัญชีเงินฝากประจำตามใบถอนเงินเอกสารหมาย จ.7 และนำเงินดังกล่าวฝากเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันตามใบนำฝากเงิน เอกสารหมาย จ.9 โจทก์คงเหลือเงินอยู่ในบัญชีเงินฝากประจำอีกเพียง 100 บาท นั้น จำเลยที่ 2 เบิกความว่าโจทก์ขอให้โอนเงิน 749,900 บาทจากบัญชีเงินฝากประจำเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน แต่ไม่มีหลักฐานการขอโอน คงมีแต่ใบถอนเงินเอกสารหมาย จ.7 ทั้งนายศรีพงษ์เบิกความว่า โจทก์ขอถอนเงินตามเอกสารหมาย จ.7 ธนาคารไม่ได้จ่ายเงินสดให้โจทก์ โดยทำเป็นแคชเชียร์เช็คเอกสารหมาย จ.8 แล้วโอนเงินตามแคชเชียร์เช็คดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ การออกแคชเชียร์เช็คและโอนเงินจากบัญชีหนึ่งไปยังอีกบัญชีหนึ่งของลูกค้าต้องขอให้ธนาคารทำ ธนาคารไม่มีอำนาจทำโดยพลการ และนายธำรงพยานจำเลยอีกปากหนึ่งเบิกความว่า การโอนเงินของลูกค้าจากบัญชีหนึ่งไปยังอีกบัญชีหนึ่งต้องให้ลูกค้าเจ้าของบัญชียินยอมและมายื่นคำขอด้วย ประกอบกับจำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายโจทก์ว่าแคชเชียร์เช็คเอกสารหมาย จ.8 โจทก์มิได้ขอให้ออก และมิได้เสียค่าธรรมเนียมจำเลยออกให้เองตามหน้าที่ ซึ่งโจทก์เบิกความว่าจำเลยไม่จ่ายเงิน 749,900 บาท ให้โจทก์ตามใบถอนเงินเอกสารหมาย จ.7 โจทก์มิได้ยินยอมให้จำเลยโอนเงินจำนวนดังกล่าวไปเข้าบัญชีอื่นใดทั้งสิ้น แคชเชียร์เช็คตามเอกสารหมาย จ.8 และใบนำฝากเงินเอกสารหมาย จ.9 โจทก์ไม่ได้ขอให้จำเลยจัดทำ เข้าใจว่าจำเลยจัดทำขึ้นเอง พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าจำเลยข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำโจทก์ จำเลยขีดฆ่ารายการที่โจทก์นำเช็คเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 เข้าบัญชีออกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และโอนเงินโจทก์จากบัญชีเงินฝากประจำไปเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันโดยพลการเป็นการไม่ชอบและเป็นเหตุให้โจทก์ขาดเงินตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ไปรวม 450,000 บาทจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share