แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยเจาะบ่อน้ำบาดาล โดยมีข้อสัญญาว่าถ้าผู้รับจ้าง (จำเลย) ทำการเจาะบ่อไม่ได้ปริมาณน้ำถึง 50 แกลลอน ต่อหนึ่งนาทีสัญญานี้เป็นอันยกเลิกผู้รับจ้างจะคืนเงิน (ค่าจ้าง) ที่รับมาทั้งหมดจำเลยได้เจาะบ่อน้ำบาดาลตามสัญญาให้โจทก์แล้ว แต่ไม่ได้ปริมาณน้ำตามสัญญาดังนั้นสัญญาจึงเลิกกันตามเงื่อนไขข้างต้น โจทก์จำเลยกลับคืนไปสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391เมื่อจำเลยทำงานให้ตามที่โจทก์จ้างไปแล้วแต่ได้น้ำไม่ครบปริมาณตามสัญญา โจทก์จึงต้องใช้เงินค่าแห่งงานที่จำเลยได้กระทำไปให้จำเลย แม้ในสัญญาจะระบุว่าจำเลยจะต้องคืนเงินที่รับไปจากโจทก์ทั้งหมด ก็หาได้หมายถึงว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องใช้ค่าแห่งงานให้จำเลยไม่ ซึ่งค่าแห่งงานนี้ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามสมควร โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเจาะบ่อน้ำบาดาลขอให้บังคับจำเลย คืนเงินมัดจำและเงินทดรองที่เบิกไปแล้วพร้อมทั้งค่าปรับแก่โจทก์ จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดและฟ้องแย้งเรียกค่าจ้างที่ค้างชำระตาม สัญญาดังกล่าวจากโจทก์ ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้เจาะบ่อน้ำบาดาล ให้โจทก์แล้วแต่ไม่ได้ปริมาณน้ำตามสัญญาทำให้สัญญาเลิกกัน ศาลย่อมจักให้โจทก์ใช้ค่าแห่งงานที่ทำแล้วนั้นแก่จำเลยได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอของจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยเจาะบ่อบาดาลขนาด 6 นิ้ว ให้โจทก์ในราคา 65,000 บาท โจทก์วางมัดจำให้จำเลยในวันทำสัญญา 10,000 บาท จำเลยต้องเจาะบ่อน้ำให้ได้ปริมาณน้ำ 50 แกลลอนต่อนาที หากไม่ได้ปริมาณดังกล่าวจำเลยจะต้องคืนเงินที่รับไปจากโจทก์ทั้งหมด เมื่อจำเลยเริ่มลงมือทำงานได้รับค่าจ้างล่วงหน้าไปอีก 22,220 บาท ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่สามารถเจาะบ่อให้ได้ปริมาณน้ำ 50 แกลลอนต่อนาที และทำงานไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 32,220 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและเบี้ยปรับวันละ 500 บาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินค่าจ้างที่ค้างอยู่ 35,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 30,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ ให้บังคับตามฟ้องแย้ง
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยขุดเจาะน้ำบาดาลให้โจทก์แล้ว แต่มีน้ำไม่ได้ปริมาณตามสัญญา สัญญาเป็นอันยกเลิกกันตามเงื่อนไขในสัญญาข้อ 8 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนการงานที่ได้กระทำไปแล้วและการที่จะชดใช้คืนให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 ซึ่งคดีนี้จำเลยจะต้องคืนเงินที่รับไปให้โจทก์ 30,000 บาท แต่โจทก์ก็ต้องชดใช้ค่าแห่งการงานที่จำเลยทำไป คือ ค่าอุปกรณ์ประมาณ 20,000 บาทค่ากรวดเห็นควรกำหนดให้โจทก์ชดใช้ 10,000 บาท รวม 30,000 บาท หักกลบลบกับที่จำเลยต้องคืนให้โจทก์จึงหมดกันพอดี ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ต้องใช้ค่าแห่งการงานแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 เพราะโจทก์ไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์จากงานที่จำเลยทำ จำเลยจึงต้องคืนเงินให้โจทก์นั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยรับเงินค่าเจาะบ่อน้ำบาดาลไปจากโจทก์ 30,000 บาท แต่ได้ปริมาณน้ำไม่ถึง 50 แกลลอนต่อนาที จึงผิดเงื่อนไขในสัญญา เอกสารหมาย จ.1 ข้อ 8 ที่ว่าถ้าผู้รับจ้างทำการเจาะบ่อไม่ได้ปริมาณน้ำถึง 50 แกลลอนต่อนาที สัญญานี้เป็นอันยกเลิก ผู้รับจ้างจะคืนเงินที่รับมาทั้งหมด ได้ความว่า จำเลยได้เจาะบ่อน้ำบาดาลตามสัญญาให้โจทก์แล้ว แต่ไม่ได้ปริมาณน้ำตามสัญญา ดังนั้นสัญญาจึงเลิกกันตามเงื่อนไขในข้อ 8 โจทก์จำเลยกลับคืนไปสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 เมื่อจำเลยทำงานให้ตามที่โจทก์จ้างไปแล้วแต่ได้น้ำไม่ครบปริมาณตามสัญญา อันหมายความว่ามีน้ำให้โจทก์ใช้ประโยชน์ได้อยู่โดยถ้าได้น้ำตามสัญญา กรณีผิดสัญญาก็จะไม่เกิดขึ้น โจทก์ต้องใช้ค่าจ้างตามสัญญาให้จำเลยอยู่แล้ว ดังนั้นกรณีนี้โจทก์จึงต้องใช้เงินค่าแห่งงานที่จำเลยได้กระทำไปตามมาตรา 391 ดังกล่าวให้จำเลย แม้สัญญาข้อ 8จะระบุให้จำเลยต้องคืนเงินที่รับไปจากโจทก์ทั้งหมด ก็หาได้หมายถึงว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องใช้ค่าแห่งงานให้จำเลยไม่ ซึ่งค่าแห่งงานนี้ ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามสมควรได้ และที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมานั้นเหมาะสมแล้ว จำเลยไม่ต้องใช้เงินคืนให้โจทก์ และการที่ศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ใช้ค่าแห่งงานก็โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 391 ดังกล่าวประกอบด้วยมาตรา 142, 246 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หาได้พิพากษาเกินคำขอของจำเลยดังฎีกาของโจทก์ไม่โดยเฉพาะคดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดและฟ้องแย้งมาด้วย ดังนี้จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ