คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3208/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นทหารพลขับ มีหน้าที่ขับรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 เป็นประจำและเป็นผู้ครอบครองดูแลรถดังกล่าว ได้ขับรถไปปฏิบัติราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เมื่อเสร็จภาระกิจแล้วได้นำรถออกจากค่ายเพื่อไปรับประทานอาหารที่ตลาดแม้จะหมดเวลาราชการและมิได้ขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชา แต่ก็เป็นเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 กลับจากไปปฏิบัติราชการ ของจำเลยที่ 1 มา แล้วเลยใช้รถขับไปเพื่อหาอาหารรับประทาน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานซึ่งได้กระทำการ ตามหน้าที่การงานของจำเลยที่1 เมื่อจำเลยที่ 2 ไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกจำเลยที่1ต้องร่วมรับผิดด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากบริษัทซิโนไทยอควิล่า จำกัดจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ตรากงจักรหมายเลข 41257 และเป็นนายจ้างผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8มกราคม 2523 จำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ในทางการที่จ้างไปตามถนนพหลโยธิน โดยความประมาทเมื่อถึงบริเวณหน้าที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดสระบุรี ได้เลี้ยวรถกลับอ้อมเกาะกลางถนนโดยมิได้ระมัดระวังเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ซึ่งขับขี่ในช่องทางที่สวนทางมาตามปกติรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย โจทก์ได้จ่ายเงินค่าซ่อมไปแล้วเป็นเงิน 26,381 บาทซึ่งจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายกับดอกเบี้ยเป็นเงิน 27,371 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์จะเป็นนิติบุคคลและรับประกันภัยรถยนต์ตามฟ้องจริงหรือไม่ ไม่รับรอง จำเลยที่ 1 ไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2เป็นทหารประจำการปฏิบัติรายการไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเท่ากัน วันเกิดเหตุซึ่งเป็นเวลาเลิกงาน จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ตรากงจักรหมายเลข 41257 ออกจากศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี เพื่อไปทำธุรกิจส่วนตัวโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และเหตุเกิดเพราะความประมาทของผู้ขับขี่รถยนต์อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งขับเข้าตัวเมืองสระบุรีด้วยความเร็วสูงมาก จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 16,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2523 และชำระเงิน 2,625 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว นับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2523 กับชำระเงิน 7,756 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2523 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ และดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องจากเงินต้นทั้งสามยอดต้องไม่เกิน 990 บาทให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์รวมเป็นเงิน 26,381 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี สำหรับจำนวนเงิน23,756 บาท นับแต่วันที่ 28 มีนาคม 2523 สำหรับจำนวนเงิน 1,775 บาท นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2523 และสำหรับจำนวนเงิน 850 บาท นับแต่วันที่ 4 กรกฎาคม2523 จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาเพียงข้อเดียวว่า กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำละเมิดในขณะที่จำเลยที่ 2 ปฏิบัติงานในหน้าที่การงานของจำเลย 1 หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าเหตุที่รถชนกันครั้งนี้เกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 2ผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลในการขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปปฏิบัติหน้าที่ราชการขณะเกิดเหตุได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปบรรทุกถังเก่าจาก ม.พัน 11 มาที่ค่ายอดิศร วันเกิดเหตุเวลา 19 นาฬิกา หมดเวลาราชการแล้วจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกจากค่ายอดิศรเพื่อไปรับประทานอาหารโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ใดแล้วเกิดเหตุชนกันขึ้น จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถยนต์คันเกิดเหตุอยู่เป็นประจำ และเป็นผู้ครอบครองดูแลรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1ตามหน้าที่อยู่ตลอดเวลา จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลักเอารถยนต์คันเกิดเหตุไปใช้โดยพลการตามพฤติการณ์ดังกล่าวมา ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทหารพลขับมีหน้าที่ขับรถยนต์คันเกิดเหตุอยู่เป็นประจำและเป็นผู้ครอบครองดูแลรถยนต์คัดเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปปฏิบัติราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเมื่อเสร็จภาระกิจแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ได้นำรถยนต์คันเกิดเหตุออกจากค่ายอดิศรเพื่อไปรับประทานอาหารที่ตลาด แม้จะหมดเวลาราชการและมิได้ขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชา แต่ก็เป็นเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 กลับจากไปปฏิบัติราชการของจำเลยที่ 1 มาแล้วเลยใช้รถยนต์คันเกิดเหตุขับไปเพื่อหาอาหารรับประทานกรณีเช่นนี้จึงถือได้ว่ายังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทหารพลขับได้กระทำการตามหน้าที่การงานของจำเลยที่ 1 อยู่ เมื่อจำเลยที่ 2 ไปทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดด้วย ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคแรกที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยที่ 1 ร่วมใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วยนั้นชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share