คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4669/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเกษตรอำเภอทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยเกษตรจังหวัดได้ไปรื้อค้นสำนักงานและโต๊ะ ทำงานของจำเลยขณะจำเลยไม่อยู่ ปรากฏว่าเงินที่จำเลยเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะ ทำงานสูญหายไป จำเลยย่อมมีเหตุที่จะสงสัยว่าโจทก์อาจเป็นคนร้ายลักเงินไปจึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์บุกรุกสำนักงานและลักทรัพย์โดยแจ้งรายละเอียดและพฤติการณ์ของโจทก์ พร้อมทั้งระบุด้วยว่าจำเลยทราบเรื่องจากผู้ใด ดังนี้ แม้จะได้ความว่าโจทก์ไปตรวจราชการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยไม่มีพยานหลักฐานว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จ อันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172และที่จำเลยทำบันทึกถึงนายอำเภอมีข้อความทำนองเดียวกับที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 179 การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนซึ่งจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 172 ต้องเป็นกรณีที่ผู้แจ้งแกล้งแจ้งข้อความให้ผิดไปจากความจริง การที่แจ้งข้อกล่าวหาคลาดเคลื่อนไปจะถือว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเสมอไปหาได้ไม่ เช่นเดียวกับการตั้งข้อหาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนซึ่งไม่จำเป็นต้องตั้งข้อหาตามข้อกล่าวหาของผู้แจ้งความเสมอไปเช่นกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,172, 173, 174, 179
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว สั่งว่าคดีมีมูล
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยซึ่งเป็นเกษตรอำเภอจอมบึงทำบันทึกเสนอต่อนายอำเภอจอมบึง และแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาโจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยเกษตรจังหวัดราชบุรีในทำนองเดียวกันว่าเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2525 เวลาประมาณ 10.00 นาฬิกา โจทก์ได้บุกรุกเข้าไปในสำนักงานเกษตรอำเภอจอมบึงและลักเงินบริจาคจำนวน 500 บาท ซึ่งจำเลยเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงวันเกิดเหตุโจทก์ไปตรวจราชการที่สำนักงานเกษตรอำเภอจอมบึงตามอำนาจหน้าที่ของโจทก์ ซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยไม่อยู่ที่สำนักงาน โจทก์เพียงแต่นำเครื่องพิมพ์ดีดของทางราชการออกจากตู้เก็บเอกสารเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยช่วยพิมพ์เอกสาร มิได้รื้อค้นโต๊ะทำงานของจำเลย ทั้งโจทก์มิได้นำเงินบริจากที่เก็บรักษาไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 172, 179 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 วางโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ1,000 บาท รวมเป็นโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
โจทก์ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกียวกับความผิดอาญาต่อพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172 นั้น ได้แก่กรณีที่ผู้แจ้งแจ้งข้อเท็จจริงเป็นเท็จโดยแกล้งกล่าวข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาให้ผิดไปจากความจริง ส่วนการตั้งข้อหานั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนซึ่งไม่จำเป็นต้องตั้งข้อหาตามข้อกล่าวหาของผู้แจ้งเสมอไป กรณีที่ผู้แจ้งแจ้งข้อกล่าวหาคลาดเคลื่อน จะถือว่าผู้แจ้งแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเสมอไปหาได้ไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2525 จำเลยได้แจ้งความต่อร้อยตำรวจโทชำนาญ แย้มประเสริฐ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ตามเอกสารหมาย จ.2 ว่า “ผู้แจ้งรับราชการตำแหน่งเกษตรอำเภอจอมบึง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2525ผู้แจ้งไปติดต่อราชการที่สำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันตกอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ไม่ได้มาปฏิบัติงานที่สำนักงานเกษตรครั้นวันนี้ เวลา 08.00 น. เศษ ผู้แจ้งมาปฏิบัติราชการตามปกติพบว่าลิ้นชักโต๊ะทำงานของผู้แจ้งถูกรื้อค้น จึงได้ตรวจสอบเอกสารและทรัพย์สิน ปรากฏว่าเงินสดจำนวน 500 บาท ซึ่งผู้แจ้งใส่ซองของทางราชการเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะหายไป จึงสอบถามนางธาสินีเอี่ยมชื่น และนางสาวอรุณี มากมา เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานได้ความว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2525 เวลาประมาณ 10.00 นาฬิกานายจัตุราภรณ์ ทองประไพ ผู้ช่วยเกษตร จังหวัดราชบุรี เป็นผู้มารื้อค้นโต๊ะทำงานของผู้แจ้ง จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวรายงานข้อเท็จจริงและรายงานให้นายอำเภอจอมบึงทราบ การที่นายจัตุรากรณ์มารื้อค้นโต๊ะทำงานของผู้แจ้ง ผู้แจ้งเห็นว่านายจัตุรากรณ์ได้บังอาจบุกรุกสำนักงานและลักเอาทรัพย์สิน (เงินสดจำนวน 500 บาท)ซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้แจ้งไป จึงมาแจ้งเพื่อให้ดำเนินคดีกับนายจัตุรากรณ์ตามกฎหมาย” การที่จำเลยแจ้งความดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนเป็นการแจ้งให้ทราบโดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยได้รับทราบมาจากคำบอกเล่าของนางสาวอรุณีและนางธาสินี มิได้ยืนยันว่าจำเลยรู้เห็นด้วยตนเอง ข้อกล่าวหาที่ว่าโจทก์บุกรุกสำนักงานเป็นเพียงการแสดงความเห็น ไม่ใช่ยืนยันข้อเท็จจริง ฉะนั้นถึงแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า การที่โจทก์เข้าไปในสำนักงานเกษตรอำเภอจอมบึงเป็นกรณีที่โจทก์เข้าไปตรวจราชการตามอำนจหน้าที่โดยชอบก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่า ข้อความที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกสำนักงานเป็นความเท็จ จำเลยไม่มีความผิด ส่วสข้อที่จำเลยแจ้งความกล่าวหาว่าโจทก์ลักเงินจำนวน 500 บาท ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยนั้น จำเลยนำสืบว่าก่อนเกิดเหนุประมาณ 1 เดือนจำเลยได้รับเงินบริจาคจำนวน 500 บาท จากพลโทสุรเชษฐ์ เพื่อมอบแก่กลุ่มเกษตรกรกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดตามที่จำเลยเห็นสมควร จำเลยจึงเก็บเงินจำนวนดัวกล่าวไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยเพื่อรอส่งมอบแก่กลุ่มเกษตรกรในวันประชุมซึ่งมีการประชุมกันทุกสามเดือน ต่อมาวันรุ่งขึ้นจากวันที่โจทก์ไปตรวจราชการที่สำนักงานเกษตรอำเภอจอบบึง จำเลยไปทำงานตามปกติ ปรากฏว่าเงินบริจาคสูญหายไป โจทก์มิได้นำสืบโต้เถียงว่าจำเลยมิได้รับเงินบริจาคจากพลโทสุรเชษฐ์หรือมิได้นำเงินบริจาคไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน โจทก์กลับนำสืบยอมรับว่าวันที่โจทก์ไปตรวจราชการนั้น โจทก์นั่งที่โต๊ะทำงานของจำเลยจริง ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าจำเลยได้นำเงินบริจาคจำนวน 500 บาท ไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยแล้วเงินดังกล่าวหายไปจริง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความดังนี้ เห็นว่า การที่โจทก์ไปนั่งที่โต๊ะทำงานของจำเลยในขณะที่จำเลยไม่อยู่ และเงินบริจาคซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยสูญหายไป จำเลยย่อมมีเหตุที่จะสงสัยว่าโจทก์อาจเป็นคนร้ายลักเงินจำนวนดังกล่าว การที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า โจทก์ลักทรัพย์ของจำเลยโดยแจ้งรายละเอียดและพฤติการณ์ของโจทก์ตามความเป็นจริง ถึงแม้จำเลยจะไม่มีพยานหลักฐานว่าโจทก์ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าคำแจ้งความของจำเลยเป็นความเท็จ จำเลยไม่มีความผิด
สำหรับปัญหาที่ว่า จำเลยทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 179 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยได้ทำบันทึกเสนอต่อนายอำเภอจอมบึงตามเอกสารหมาย จ.1 หน้า 6ตามบันทึกดังกล่าวจำเลยได้รายงานข้อเท็จจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและรายงานการกระทำของโจทก์ตามที่ได้รับคำบอกเล่าจากนางสาวอรุณีและนางธาสินี ซึ่งมีข้อความทำนองเดียวกันกับที่จำเลยแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ฉะนั้นบันทึกตามเอกสารหมาย จ.1 หน้า 6 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ โดยเหตุผลนัยเดียวกันกับที่กล่าวข้างต้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด เช่นเดียวกันที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share