คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4623/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังเกิดเหตุนานประมาณ 2 เดือน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสอบถามผู้เสียหายถึงเรื่องถูกคนร้ายชิงทรัพย์แล้วให้ไปดู ตัวและชี้ คนร้ายผู้เสียหายชี้ ว่าจำเลยเป็นคนร้าย แต่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้ผู้เสียหายแอบดู จำเลยที่ม่านในห้องพนักงานสอบสวนก่อนชี้ ตัวเช่นนี้ จะรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวมาลงโทษจำเลยไม่ได้ พ. พยานโจทก์สามารถชี้ ตัวจำเลยว่าเป็นคนร้ายได้ถูกต้องเพราะได้รับเงินจากเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 400 บาท พยานปากนี้ได้กระทำไปโดยมีอามิสสินจ้าง จึงเป็นพยานที่ขาดน้ำหนัก ฟังลงโทษจำเลยไม่ได้เช่นกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339,340 ตรี, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339, 83 ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ให้จำคุก 15 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฏีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุได้มีคนร้ายใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะชิงเอาสร้อยคอทองคำ 1 เส้น สร้อยข้อมือทองคำ 2 เส้น รวมราคา 6,000 บาทของนางสาวสุนันทา พงษ์มณีศิริรักษ์ ผู้เสียหายไปจริง มีข้อวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ได้ความจากนางสาวสุนันทาผู้เสียหายว่า เมื่อผู้เสียหายถูกคนร้ายชิงทรัพย์นั้นผู้เสียหายสามารถจำหน้าคนร้ายได้ แต่ผู้เสียหายไม่ได้ไปแจ้งความเพราะคิดว่าคงจับคนร้ายไม่ได้ เพียงไปเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้บรรดาเพื่อน ๆ รวมทั้งสิบตำรวจเอกมาโนชญ์ฟัง สิบตำรวจเอกมาโนชญ์รับจะให้เพื่อน ๆ ช่วยสืบหาคนร้ายให้ หลังเกิดเหตุนานประมาณ 2 เดือน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาสอบถามผู้เสียหายถึงเรื่องที่ถูกคนร้ายชิงทรัพย์ แล้วให้ไปดูตัวและชี้คนร้าย ผู้เสียหายได้ชี้จำเลยนี้ว่าเป็นคนร้ายนั้น เห็นว่า ก่อนที่ผู้เสียหายจะชี้คนร้ายปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้ผู้เสียหายแอบดูจำเลยที่ม่านในห้องพนักงานสอบสวน แสดงว่าถ้าผู้เสียหายสามารถจำคนร้ายที่ชิงทรัพย์ได้จริง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกระทำเช่นนั้น พิเคราะห์เหตุที่ผู้เสียหายไม่ยอมแจ้งความแต่แรก เพิ่งจะแจ้งความต่อเมื่อไปดูตัวจำเลยแล้ว น่าจะเป็นเพราะผู้เสียหายจำคนร้ายไม่ได้มากกว่าส่วนนายพรชัย เลี้ยงจำปา พยานโจทก์ที่เบิกความว่า เห็นจำเลยตั้งแต่เข้าไปซื้อกล้วยแขกจากพยาน แล้วเห็นจำเลยไปขึ้นรถจักรยานยนต์ซึ่งพวกติดเครื่องรออยู่ตามไปชิงทรัพย์ผู้เสียหายเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยได้ และให้พยานไปชี้ตัวคนร้ายสามารถชี้ตัวถูกต้อง ก็ปรากฏว่าพยานโจทก์ปากนี้ได้รับเงินจากเจ้าหน้าที่ตำรวนถึง 400 บาท จึงยอมไปชี้ตัวจำเลย ซึ่งการกระทำเช่นนั้เสมือนว่า พยานปากนี้ได้กระทำไปโดยมีอามิสสินจ้างคำเบิกความของพยานดังกล่าวจึงขาดน้ำหนักพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่เพียงพอที่จะให้รับฟังลงโทษจำเลยได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share