คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4508/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทำหนังสือรับสภาพหนี้ระบุว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนแน่นอนข้อความด้าน หลังก็ระบุว่าเป็นอันลบล้างหนังสือสัญญากู้ทุกฉบับที่จำเลยทำไว้ต่อโจทก์ ดังนี้ หมายถึงหนี้เงินกู้ยืมหนังสือรับสภาพหนี้จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตาม ป.พ.พ.มาตรา 653.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้ง ต่อมาจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ขอบังคับให้จำเลยชำระเงิน 58,938.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้เงินโจทก์ จำเลยคงลงชื่อในกระดาษเปล่าให้โจทก์ไว้แต่โจทก์คดโกงปลอมหนังสือรับสภาพหนี้หนังสือรับสภาพหนี้มิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมที่จะนำมาฟ้องศาลได้และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์จริง แต่คดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินโจทก์ โจทก์จะอาศัยหนังสือรับสภาพหนี้มาฟ้องใหัจำเลยรับผิดตามสัญญากู้เงินไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน เป็นเพียงกฎหมายบัญญัติไว้เกี่ยวกับอายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 นั้น เห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 มีข้อความระบุว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นเงินที่แน่นอนและจำเลยยอมรับว่าจะใช้หนี้เงินจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์แม้ข้อความตามด้านหน้าของหนังสือรับสภาพหนี้จะไม่ได้ระบุ่าหนี้เงินดังกล่าวเป็นหนี้เงินกู้ แต่เมื่ออ่านประกอบข้อความในด้านหลังดังกล่าวข้างต้นแล้ว เป็นที่เห็นได้ว่า หนี้เงินที่ระบุไว้นั้นหมายถึงหนี้เงินกู้ยืมนั่นเอง หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share