คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3826/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ76 บัญญัติว่า ‘เงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษใน พระราชบัญญัติ เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้ (1) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น ฯลฯ’ ฉะนั้น เงินค่าทดแทนในการเวนคืนที่ดินของโจทก์จึงจะกำหนดตามบัญชีราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหาได้ไม่ แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบให้เห็นโดยตรงว่าที่ดินของโจทก์มีราคาตามธรรมเนียมที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนรายพิพาทใช้บังคับเท่าใด แต่โจทก์ก็นำสืบถึงราคาซื้อขายของที่ดินข้างเคียงกับที่ดินของโจทก์ในเวลาก่อนและหลังพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวบังคับใช้ ศาลย่อมใช้ดุลพินิจกำหนดราคาซื้อขายที่ดินของโจทก์ในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกา ใช้บังคับได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่5253, 5110, 3206 (บางส่วน) และครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่ 1583 เนื้อที่ 2 ตารางวา ที่ดินดังกล่าวอยู่ที่ตำบลสมเด็จเจ้าพระยา อำเภอธนบุรี (บางกอกใหญ่) ต่อมาเปลี่ยนเป็นแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน รวมเนื้อที่ 26.8 ตารางวาเมื่อ พ.ศ. 2519 และ พ.ศ. 2524 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนครแขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธ์วงศ์ แขวงคลองสาน ต่อมาแก้เป็นแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน และแขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรีกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2519 และ พ.ศ. 2524 (ฉบับที่2) ซึ่งบัญญัติให้จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และให้จำเลยที่ 2 รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 กำหนดค่าทดแทนที่ดินโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 5253 และ 5110เนื้อที่ 22.8 ตารางวา ตารางวาละ 9,508 บาท เป็นเงิน 216,800 บาทและตามโฉนดเลขที่ 3206 เนื้อที่ 2 ตารางวา ตารางวาละ 10,000บาท เป็นเงิน 20,000 บาท โจทก์เห็นว่าค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวไม่เป็นธรรมและมิได้กำหนดตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 บัญญัติไว้ จึงร้องเรียนไปยังจำเลยที่ 2 ให้กำหนดค่าทดแทนใหม่ แต่จำเลยที่ 2 ยืนยันค่าทดแทนตามที่กำหนดไว้แล้ว โจทก์เห็นว่าเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนที่จะใช้ถนนและสะพานใหม่ จึงยอมรับค่าทดแทนบางส่วนเป็นเงิน 146,000บาทจากจำเลยที่ 3 โดยได้โต้แย้งไว้ ที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 40,000 บาท โจทก์ขอคิดเพียงตารางวาละ 35,000 บาท รวม 26.8 ตารางวา เป็นเงิน 938,000 บาทจำเลยที่ 3 จ่ายให้แล้ว 236,800 บาท ยังขาดอีก 701,200 บาทซึ่งจำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดใช้แก่โจทก์ โจทก์มอบให้ทนายความทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินจำนวนนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินจำนวน706,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 29 มกราคม 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า รัฐบาลตั้งกรรมการขึ้นเพื่อตกลงค่าทดแทนกับโจทก์ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ไม่มีอำนาจกำหนดค่าทดแทนส่วนจำเลยที่ 4 เป็นแต่เจ้าหน้าที่เวนคืนที่ดิน ไม่มีอำนาจกำหนดค่าทดแทนที่ดิน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ แต่อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการจัดซื้อที่ดินและชดเชยค่ารื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างกับต้นไม้ที่ถูกโค่นล้ม ถือเอาราคาค่าทดแทนตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งคณะกรรมการกำหนดและเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2522 จึงเป็นราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสมแล้ว จำเลยทั้งสี่กระทำไปเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนทั่วไปชอบด้วยกฎหมายและแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินจากจำเลยที่ 3 แล้ว แต่โจทก์ไม่ไปขอรับเงินจำเลยที่ 3 จึงนำเงินค่าทดแทนที่จะต้องชำระให้โจทก์จำนวน 276,800 บาทไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์ กรมบังคับคดีต่อมาโจทก์ไปขอรับเงินค่าทดแทนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 5253จำนวน 146,000 บาท จากกรมบังคับคดีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ใช้เงิน 136,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,200 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้เท่าที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4
โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ควรได้รับค่าทดแทนสูงขึ้นเป็นตารางวาละ 25,000 บาท ส่วนที่โจทก์อ้างว่าครอบครองปรปักษ์ที่ดิน 2 ตารางวา คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยังไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทน พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่3 ชดใช้ค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นให้รับผิดอีก 248,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ค่าทดแทนในการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางหลวงนั้นประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน2515 ข้อ 76 บัญญัติว่า ‘เงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้
(1) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น ฯลฯ’ ซึ่งจำเลยที่ 3 เองก็ให้การรับว่าค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้นจะต้องคำนวณเท่าราคาทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ ดังนั้นค่าทดแทนที่ดินของโจทก์จะกำหนดตามบัญชีราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อให้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเอกสารหมาย ล.4 ที่จำเลยที่ 3 ใช้เป็นเกณฑ์คำนวณค่าทดแทนไม่ได้ เพราะไม่ใช่ราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับและขัดกับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว จะต้องกำหนดเท่าราคาที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ 1 มกราคม 2520 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ ปัญหาว่าโจทก์ควรได้รับค่าทดแทนที่ดินเท่าใดนั้นโจทก์มีพยานหลักฐานนำสืบว่า เมื่อ พ.ศ. 2501 โจทก์ซื้อที่ดินรายพิพาทในราคาตารางวาละ 20,000 บาท แต่ลงไว้ในสัญญาซื้อขายเพียงตารางวาละ 10,000 บาทเศษเพราะผู้ขายให้ลงราคาไว้เช่นนั้นเพื่อจะได้เสียค่าธรรมเนียมน้อย เมื่อวันที่ 11กันยายน 2514 นายอรุณ จริยาภิรัต ขายที่ดิน 2 โฉนดอยู่ห่างที่ดินรายพิพาท 5-6 ห้องแถวการค้า ในราคาตารางวาละ 35,000 บาทเศษและเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2525 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ซื้อที่ดินในบริเวณใกล้ที่ดินรายพิพาทและทำเลการค้าสู้ที่ดินรายพิพาทไม่ได้ในราคา ตารางวาละ 40,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบให้เห็นโดยตรงว่าที่ดินของโจทก์มีราคาตามธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนรายนี้ใช้บังคับเท่าใด แต่โจทก์ก็ได้นำสืบถึงราคาซื้อขายของที่ดินข้างเคียงกับที่ดินของโจทก์ในเวลาก่อนและหลังพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ ศาลย่อมใช้ดุลพินิจกำหนดราคาซื้อขายของที่ดินของโจทก์ในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับได้ ศาลฎีกาเห็นต่อไปว่า เมื่อคำนึงถึงว่าโจทก์ซื้อที่ดินของโจทก์เมื่อ พ.ศ. 2501 ในราคาตารางวาละไม่ต่ำกว่า10,000 บาทเศษ เป็นระยะเวลาก่อนพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนรายนี้ใช้บังคับถึง 19 ปี และในระยะเวลาก่อนและหลังพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับประมาณ4-5 ปี การซื้อขายที่ดินใกล้เคียงที่ดินของโจทก์ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.15 และ จ.17 ในราคาตารางวาละ35,000 บาทเศษและ 40,000 บาท ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าที่ดินของโจทก์ตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับจะมีราคาเพียงตารางวาละ 6,000 บาท หรือ 10,000 บาทดังที่จำเลยที่ 3 กำหนดเป็นค่าทดแทนให้โจทก์ แต่ค่าทดแทนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดตารางวาละ 25,000 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าที่ดินที่โจทก์อ้างว่าซื้อขายในระยะก่อนและหลังวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนรายนี้ ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.15 และ จ.17 ทั้งสองรายต่างเป็นการซื้อขายรวมทั้งตึกแถวในที่ดินที่ซื้อขายกันนั้นด้วย ราคาที่ดินจึงมิใช่ตารางวาละ 35,000 บาทหรือ40,000 บาท ดังโจทก์กล่าวอ้าง ศาลฎีกาเห็นว่าค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ชอบที่จะเป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดซึ่งเป็นจำนวนที่เหมาะสมและชอบธรรมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน’
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share