คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3296/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยรับฝากเงินส่วนการเงินของโจทก์ ได้ลงนามตรวจลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย รับรองยอดบัญชีและสั่งให้ผ่านจำนวนเงินตามเช็ค ดังนี้แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวถึงหน้าที่ของจำเลย ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏถึงหน้าที่ของจำเลยพอสมควรเท่าที่จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยอนุมัติให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ลูกค้าของโจทก์เบิกเงินเกินบัญชี โดยฝ่าฝืนคำสั่งของ ก. ผู้จัดการธนาคารโจทก์ ทำให้ยอดหนี้ค้างชำระของลูกค้าสูงขึ้น และมูลค่าของหลักประกันทั้งสิ้นที่ลูกค้าให้ไว้แก่โจทก์มีไม่ถึงจำนวนหนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา11
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ฯ แล้ว การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลงนามตรวจลายมือผู้สั่งจ่ายรับรองยอดบัญชีและสั่งให้ผ่านจำนวนเงินตามเช็คลูกค้าของโจทก์ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 90, 91, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘โจทก์ได้บรรยายว่าจำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 มีตำแหน่งเป็นหนัวหน้าหน่วยรับฝากเงินส่วนการเงินของโจทก์ แม้โจทก์จะยังไม่กล่าวถึงหน้าที่ของจำเลยแต่ภายหลังโจทก์กล่าวในฟ้องว่า ‘จำเลยได้ลงนามตรวจลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายรับรองยอดบัญชีและสั่งให้ผ่านจำนวนเงินตามเช็คที่กล่าวมาแล้ว’ ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายในฟ้องให้ปรากฏถึงหน้าที่ของจำเลยพอสมควรเท่าที่จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายข้างต้นแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปคงมีว่าการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นพนักงานธนาคารโจทก์มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยรับฝากเงินส่วนการเงินมีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีเงินฝากของลูกค้าธนาคารโจทก์และอนุมัติให้ถอนเงินได้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2525จำเลยได้อนุมัติให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดอาภาภัทราเบิกเงินเกินบัญชีตามเช็คเอกสารหมาย จ.4 เป็นเงิน 800,000 บาทต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน2525 จำเลยอนุมัติให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดอาภาภัทราเบิกเงินเกินบัญชีไปตามเช็ค 5 ฉบับเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.10 เป็นเงิน 4,200,000 บาท…เห็นว่าข้อที่จำเลยเบิกความว่านายกิตติผู้จัดการธนาคารโจทก์ได้โทรศัพท์มาสั่งให้จำเลยอนุมัติให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดอาภาภัทราเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 5,000,000 บาทนั้นขัดกับคำสั่งตามเอกสารหมาย จ.13 โดยจำเลยจะต้องเสนอผ่านผู้รักษาการแทนหัวหน้าส่วนการเงินซึ่งในขณะเกิดเหตุคือนางสุมนา วิสุทธิธรรมตามขั้นตอนไปยังนายกิตติเพื่อขออนุมัติเป็นรายไป นางสุมนาพยานโจทก์ก็เบิกความว่าถ้านายกิตติจะสั่งให้จ่ายเงินที่ขอเบิกเกินบัญชีถึงหัวหน้าส่วนการเงินก็จะสั่งในหนังสือของผู้ขอเบิกหรือในเอกสารของธนาคารที่เสนอขึ้นไปตามขั้นตอนนายกิตติเองก็เบิกความยืนยันว่าไม่เคยสั่งให้จำเลยจ่ายเงินตามเช็ค ดังนั้นข้ออ้างของจำเลยที่ว่านายกิตติโทรศัพท์มาสั่งให้จ่ายเงินและกลั่นแกล้งเพื่อจะเอาพวกของตนมาแทนตำแหน่งจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายกิตติกรรมการผู้จัดการธนาคารโจทก์ ปัญหาต่อไปมีว่าการกระทำของจำเลยเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือโดยทุจริตหรือไม่จำเลยเบิกความว่าการที่จำเลยอนุมัติให้จ่ายเงินไปนั้น โจทก์ได้หักดอกเบี้ยไว้อันเป็นประโยชน์แก่โจทก์เห็นว่าการที่โจทก์หักดอกเบี้ยไว้ก็เป็นธุรกิจของธนาคารโจทก์เมื่อลูกค้านำเงินผ่านเข้าบัญชีก็จะถูกหักดอกเบี้ยซึ่งก็เป็นเงินของธนาคารโจทก์เองโจทก์หาได้ประโยชน์อะไรไม่ตรงกันข้ามโจทก์เป็นฝ่ายเสียหายเพราะหลักประกันวงเงินสินเชื่อเดิมของห้างหุ้นส่วนจำกัดอาภาภัทรานั้นธนาคารโจทก์ประเมินราคาที่ดินไว้เพียง 7,972,000 บาทแต่หลังจากที่จำเลยอนุมัติเงินจำนวน 5,000,000บาทให้ไปแล้วทำให้ยอดหนี้ค้างชำระสูงถึง 10,000,390.85 บาทแม้ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดอาภาภัทราจะขอเพิ่มวงเงินเบิกเกินบัญชีโดยขอวางหลักประกันเพิ่มอีกแต่ธนาคารโจทก์ก็ประเมินราคาที่ดินใหม่เพียง 1,700,000 บาทมูลค่าของหลักประกันทั้งสิ้นจึงมีไม่ถึงจำนวนหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอาภาภัทรามีอยู่และขณะนี้ก็ถูกโจทก์ฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ดังกล่าวอีกด้วยเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 มาตรา11 และการที่จำเลยอนุมัติให้ผ่านจำนวนเงินตามเช็คของห้างหุ้นส่วนจำกัดอาภาภัทราในวันที่ 27 พฤษภาคม และวันที่ 1มิถุนายน 2525 เป็นการกระทำผิดสองกรรมต่างกันและเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐแล้วการกระทำนั้นย่อมไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 มาตรา 11ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปีรวมจำคุกจำเลย 4 ปีคำให้การในชั้นศาลของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสี่คงจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 3 ปี’.

Share