แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หนังสือรับสภาพหนี้เป็นเพียงหลักฐานแห่งการสงวนสิทธิเรียกร้องอันมีอยู่ในมูลหนี้เดิมเท่านั้น ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงไม่ใช่การแปลงหนี้ใหม่ และหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเพียงข้อตกลงในการชำระหนี้ทั้งหมดว่าจะชำระเมื่อใด หากผิดนัดจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด จำเลยไม่มีสิทธิอันใด ที่ยอมผ่อนผันให้โจทก์ จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาตัวแทนโดยมิได้อาศัยหนังสือรับสภาพหนี้เป็นหลัก การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงยังไม่ถูกต้องโดยที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1และร่วมรับผิดในหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจจะพิพากษาถึงความรับผิดในอัตราดอกเบี้ยให้มีผลบังคับแก่จำเลยที่ 2ถึงที่ 5 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนโจทก์มีหน้าที่ขายประกันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 รับเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าแล้วไม่ส่งมอบให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเบี้ยประกันจากลูกค้าตามฟ้องโจทก์ทำบัญชีไม่ถูกต้อง และคำฟ้องเคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การว่า ฟ้องเคลือบคลุม จำเลยทุกคนไม่เคยได้รับคำบอกกล่าวให้ชำระหนี้ โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกัน หรือแทนกันชำระเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบคงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจประกันภัย จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสำนักงานตัวแทนโจทก์ประจำจังหวัดนครสวรรค์ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนขายประกันวินาศภัยและรับเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าส่งให้โจทก์ ตลอดจนตกลงค่าสินไหมทดแทนแก่ลูกค้า โจทก์ให้ผลประโยชน์แก่ จำเลยที่ 1 เป็นค่านายหน้าค่าใช้จ่ายตามจำนวนเบี้ยประกันภัย จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2531ให้โจทก์ สัญญาจะชำระเงินจำนวน 503,439 บาท 31 สตางค์ แก่โจทก์ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2521 หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินให้โจทก์
ส่วนข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า หนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.33 เป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมระงับสิ้นไป ทั้งเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ชอบที่จะบังคับเอาจากเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกให้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น และโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ศาลฎีกาเห็นว่าหนังสือรับสภาพหนี้เป็นเพียงหลักฐานแห่งการสงวนสิทธิเรียกร้องอันมีอยู่ในมูลหนี้เดิมเท่านั้นไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงไม่ใช่การแปลงหนี้ใหม่และหนังสือรับสภาพหนี้เเป็นเพียงข้อตกลงในการชำระหนี้ทั้งหมดว่าจะชำระเมื่อใด หากผิดนัดจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิอันใดที่ยอมผ่อนผันให้โจทก์จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนรับเงินเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยแล้วไม่นำส่งโจทก์ ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 ได้รับกรมธรรม์ไปจากโจทก์ และรับเงินจากผู้เอาประกันภัยตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 รับเงินจากผู้เอาประกันภัยตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องและทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ไว้ จึงเป็นการวินิจฉัยตรงตามฟ้อง และประเด็นข้อพิพาทแล้วแต่การที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาตัวแทนโดยมิได้อาศัยหนังสือรับสภาพหนี้เป็นหลัก การที่ให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นหลัก การที่ให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงยังไม่ถูกต้อง และโดยที่เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้จึงสมควรพิพากษาแก้เรื่องความรับผิดในอัตราดอกเบี้ย ให้มีผลไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ฏีกาอีกด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.