คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2368/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ทำไว้ต่อธนาคารโจทก์ในวงเงิน 400,000บาท โดยจำเลยที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโดยถือเอารายการบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เต็มตามวงเงินที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองไว้เป็นวันเริ่มต้นของการคิดดอกเบี้ยทบต้น ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์มีจำนวนเกิน400,000 บาทในวันที่ 30 กันยายน 2525 จำเลยที่ 2 จึงต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นให้แก่โจทก์นับแต่วันนั้นเป็นต้นไปจนถึงวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าโจทก์และเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้ จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์เป็นเงิน 400,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างประกันหนี้จำเลยที่ 1 ในวงเงิน 400,000 บาท ครบกำหนดชำระหนี้ จำเลยทั้งสามไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 620,071.54 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย หากไม่ชำระ ขอให้บังคับจำนอง หากได้เงินไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธและต่อสู้ด้วยว่า หนี้ของจำเลยที่ 1 มีจำนวนไม่ถึงตามที่โจทก์ฟ้อง การคิดดอกเบี้ยทบต้นของโจทก์ไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีตามฟ้อง โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันกู้จนถึงวันที่จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญา หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยอย่างไม่ทบต้น ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้จำนวนดังกล่าว แต่ไม่เกินวงเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับจากวันที่จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน585,623.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในต้นเงินดังกล่าวถึงวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาและดอกเบี้ยอย่างไม่ทบต้นนับแต่วันถัดจากวันนั้นเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1ตามยอดเงินที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาในวงเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอย่างไม่ทบต้นในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ผู้จำนองจะต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นของเงินจำนวนดังกล่าวไม่ว่าหนี้ของจำเลยที่ 1 จะมีจำนวนใดก็ตาม นับแต่วันที่หนี้ของจำเลยที่ 1 ถึงยอดวงเงิน 400,000 บาท เป็นต้นไป
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ เป็นจำนวน 400,000 บาท และในวันที่ 5 สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจำนองที่ดินไว้กับโจทก์เพื่อประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีหลายครั้งจนครบจำนวน 400,000 บาทเมื่อวันที่ 25สิงหาคม 2524 และในวันที่ 30 กันยายน 2524 จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 406,022.62 บาทหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ก็มิได้นำเงินเข้าหรือถอนเงินออกจากบัญชีอีกเลย จนกระทั่งวันที่ 9 พฤศจิกายน 2526 โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2526 และวันที่ 11 พฤศจิกายน 2526 ตามลำดับ คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 สำหรับดอกเบี้ยของต้นเงิน 400,000 บาทนับแต่เมื่อใด
ปรากฏตามสัญญาจำนองที่ดินและหนังสือสัญญาจำนองต่อท้ายสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกสารหมาย จ.5 ในข้อ 1 ความว่า ‘…ผู้จำนองได้ตกลงจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น…ไว้แก่ผู้รับจำนองเป็นเงิน 400,000 บาท (สี่แสนบาทถ้วน) เป็นประกันการชำระหนี้ของนางภูษิต มิลินทเลข (จำเลยที่ 1) ซึ่งต่อไปในสัญญานี้เรียกว่า’ลูกหนี้’ เป็นหนี้ผู้รับจำนองอยู่ในเวลานี้หรือในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้าเกี่ยวกับเรื่องเงินที่ลูกหนี้ที่กล่าวแล้ว…ฯลฯ…กับค่าอุปกรณ์ คือ ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองฯลฯ เป็นต้น’และในข้อ 2 มีความว่า ‘ผู้จำนองยอมเสียดอกเบี้ยให้ผู้รับจำนองในอัตราร้อยละสิบเก้าต่อปี (ภายหลังลดเหลือสิบแปดต่อปี) ในจำนวนเงินทั้งสิ้น ซึ่งลูกหนี้ที่กล่าวแล้วข้างต้นเป็นหนี้ผู้รับจำนองนั้น เงินดอกเบี้ยนี้จะได้คิดในยอดเงินประจำวันซึ่งปรากฏในบัญชีของลูกหนี้ ถ้าลูกหนี้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยที่กล่าวนี้ ผู้จำนองยอมให้ผู้รับจำนองคำนวณดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบต้นในบัญชีของลูกหนี้ และผู้จำนองยอมรับผิดชอบชดใช้เงินดอกเบี้ยนี้ด้วย’ เห็นว่านอกจากจำเลยที่ 2 ผู้จำนองจะต้องรับผิดตามสัญญาจำนองเป็นเงิน 400,000 บาท แล้ว ยังต้องรับผิดสำหรับดอกเบี้ยทบต้นเมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีด้วย ในการคิดดอกเบี้ยทบต้นเพื่อให้จำเลยที่ 2 รับผิดนั้นต้องถือเอารายการบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ผู้รับจำนองเต็มตามวงเงินที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองไว้เป็นวันเริ่มต้นของการคิดดอกเบี้ยทบต้นตามข้อตกลงของสัญญาจำนองดังกล่าว ปรากฏตามรายการบัญชีกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.4 ว่า ครั้งสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์มีจำนวนเต็มตามวงเงินที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนองไว้คือ วันที่ 30 กันยายน 2524 จำเลยที่ 2 จึงต้องเสียดอกเบี้ยทบต้นให้แก่โจทก์นับแต่วันนั้นเป็นต้นไปจนถึงวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 สำหรับดอกเบี้ยของต้นเงิน 400,000 บาท ในอัตราร้อยละ18 ต่อปีโดยวิธีทบต้นนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2524 ถึงวันที่ 17ธันวาคม 2526 หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันโดยไม่ทบต้นจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้แล้วเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท.

Share