แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
อธิการบดีมอบอำนาจให้เลขาธิการ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ราชการรองจากอธิการบดีลงชื่อในสัญญาแทนโจทก์ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือ แต่จำเลยก็ยอมรับการกระทำดังกล่าวตลอดมาโจทก์ย่อมมีสิทธินำสัญญามาฟ้องร้องได้โดยชอบ
โจทก์เป็นส่วนราชการของรัฐบาล เงินทุนที่จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย ให้แก่รัฐบาลไทยภายใต้แผนการโคลัมโบ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้รับมอบหมายให้ทำสัญญาได้ย่อมมีอำนาจฟ้องร้องตามสัญญาได้ ข้อความในสัญญาชัดเจนอยู่แล้วว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะต้องชดใช้เงินแก่โจทก์ หามีข้อสงสัยต้องตีความไม่
การที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 โอนไปรับราชการสังกัดอื่นมิใช่การยอมสละสิทธิตามสัญญาแต่อย่างใด เพียงแต่โจทก์ไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเท่านั้น เพราะจำเลยที่ 1 ยังคงรับราชการเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลอยู่
จำเลยที่ 1 ออกจากราชการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2517 ต้องนับเอาวันที่ดังกล่าวเป็นวันเริ่มต้นผิดสัญญา และโจทก์เริ่มมีสิทธิคิดดอกเบี้ย เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องภายในเวลา 10 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 360,999.47 บาทพร้อมดอกเบี้ย ฐานผิดสัญญารับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย
จำเลยให้การความว่าผู้ลงชื่อในสัญญาแทนโจทก์ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมแทนโจทก์ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินตามสัญญาแก่โจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้แยังกันได้ความว่าเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2504 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์ขอรับทุนลาไปศึกษาต่อ ณ ประเทศออสเตรเลียตามเอกสารหมาย จ.2 ใจความสำคัญคือเมื่อเสร็จการศึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องเข้ารับราชการในสังกัดโจทก์เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ลาไปศึกษาถ้าไม่รับราชการหรือรับราชการไม่ครบกำหนดจะต้องคืนเงินค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลออสเตรเลียออกให้ทั้งสิ้นหรือลดลงตามส่วนจากจำนวนเต็มแล้วแต่กรณืให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 1ลาไปศึกษาต่อในประเทศออสเตรเลียเป็นเวลา 2,669 วัน ได้รับทุนจากรัฐบาลออสเตรเลียเป็นเงิน 14,333.31 เหรียญออสเตรเลีย จำเลยที่ 1กลับมารับราชการในสังกัดโจทก์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2512 ต่อมาโจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 โอนไปรับราชการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2513 ต่อมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีคำสั่งลงวันที่ 7 มิถุนายน 2523 ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากราชการโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2517 เป็นต้นไป รวมเวลาที่จำเลยที่ 1 รับราชการทั้งสองมหาวิทยาลัย 1,786 วัน คงเหลือเวลาที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับราชการชดใช้ตามสัญญาขอรับทุนอีก 3,552 วันเมื่อลดลงตามส่วนจากจำนวนเต็มแล้วคงเป็นเงินที่จะต้องชดใช้คืน9,532.26 เหรียญออสเตรเลีย จำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่านายศุภชัย วานิชวัฒนา มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์นั้นไม่ถูกต้องด้วยเหตุผล ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ปัญหาข้อนี้โจทก์มีนายศุภชัย วานิชวัฒนา ผู้ลงชื่อในสัญญาหมาย จ.2 จ.3 แทนโจทก์มาเป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นเลขาะิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลงชื่อในสัญญาในฐานะตัวแทนโจทก์พยานมีอำนาจทำได้เพราะอธิการบดีมอบอำนาจให้พยานซึ่งเป็นเลขาธิการและผู้ช่วยอธิการบดีในด้านบริหารด้วยระยะนั้นพยานเป็นผู้ลงชื่อแทนโจทก์ในกิจการด้านบริหารส่วนใหญ่เพราะตัวอธิการบดีเป็นรองนายกรัฐมนตรี ไม่มีหนังสือมอบหมายแต่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า นายศุภชัยมีตำแหน่งหน้าที่ราชการรองจากอธิการบดี เมื่อได้รับมอบหมายให้กระทำการแทน แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือ แต่จำเลยก็ยอมรับการกระทำดังกล่าวตลอดมาโจทก์ย่อมมีสิทธินำสัญญามาฟ้องร้องได้โดยชอบ จำเลยฎีกาข้อที่สองว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิใช่เงินทุนของโจทก์แต่เป็นของรัฐบาลไทย โจทก์มิใช่ผู้เสียหาย เห็นว่าโจทก์เป็นส่วนราชการของรัฐบาล เงินทุนที่จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลียให้แก่รัฐบาลไทย ภายใต้แผนการโคลัมโบ ดังนั้นเมื่อโจทก์ได้รับมอบหมายให้ทำสัญญาได้ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องร้องตามสัญญาได้สัญญาหมาย จ.2 ข้อ 8 มีความชัดเจนอยู่แล้วว่าถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะต้องชดใช้เงินแก่โจทก์ หามีข้อสงสัยที่จะต้องตีความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11แต่อย่างใดไม่ จำเลยฎีกาข้อที่สามว่าการที่โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยที่ 1 โอนไปรับราชการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์โดยให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2513 เป็นต้นไป แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะเอาประโยชน์แห่งสัญญาหมาย จ.2 จ.3 อีกต่อไปนั้น เห็นว่าการที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 โอนไปรับราชการยังสังกัดอื่นมิใช่การยอมสละสิทธิตามสัญญาแต่อย่างใด เพียงแต่โจทก์ไม่ถือว่าจำเลยที่ 1ผิดสัญญาเท่านั้น เพราะจำเลยที่ 1 ยังคงรับราชการเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลอยู่ จำเลยฎีกาข้อที่สี่ว่า หากต้องรับผิดตามสัญญาโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกได้เต็มตามฟ้อง เพราะได้หักเงินเดือนสะสมชดใช้เงินทุนไปบ้างแลว และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพราะตามสัญญาไม่ให้สิทธิเรียกดอกเบี้ย เห็นว่าระหว่างจำเลยที่ 1 รับราชการอยู่ยังไม่มีการผิดสัญญาเกิดขึ้น โจทก์จะไปหักเงินสะสมใช้เงินทุนได้อย่างไร อีกประการหนึ่งจำเลยที่ 1 ก็มิด้ระบุว่าโจทก์หักไปแล้วเป็นเงินเท่าใดจึงไม่มีทางที่จะคำนวณลดเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ได้ ส่วนดอกเบี้ยนั้นเมื่อจำเลยผิดนัดโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกเอาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ฎีกาข้อสุดท้ายในเรื่องอายุความนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 1 ออกจากราชการเมื่อวันที่1 กุมภาพันธ์ 2517 ต้องนับเอาวันที่ดังกล่าวเป็นวันเริ่มต้นผิดสัญญา จะนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2513 ดังที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่ เพราะวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังมิได้ผิดสัญญาแต่อย่างใดเมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องภายในเวลา 10 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา2,000 บาท แทนโจทก์.