คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามถูกฟ้องว่าร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในลักษณะของการโทรมหญิง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำที่อยู่ในส่วนลักษณะคดี เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามกระทำการอันเป็นความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2ซึ่งมิได้ฎีกา ให้มิต้องได้รับโทษเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งได้ยื่นฎีกาได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213,225.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรานางสาวอมร ผู้เสียหายในลักษณะโทรมหญิง ขอให้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา276, 278, 83
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 15 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 10 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายดังที่โจทก์ฟ้อง แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “…คดีมีปัญหาต่อไปว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นฎีกา ส่วนจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาหลังกำหนดเวลาและศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 เพราะข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าได้ร่วมกันกระทำความผิดดังที่โจทก์ฟ้องแล้วคำพิพากษาจะมีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วยหรือไม่ เห็นว่าจำเลยทั้งสามถูกฟ้องว่าร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในลักษณะของการโทรมหญิง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำที่อยู่ในส่วนลักษณะคดี เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามกระทำการอันเป็นความผิดดังที่โจทก์ฟ้องแล้วศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาให้มิต้องได้รับโทษเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งได้ยื่นฎีกา ตามมาตรา 213, 225 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยทั้งสามให้พ้นข้อหาไป”.

Share