คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเพิ่งมาอ้างในชั้นฎีกาว่า การที่จะพิจารณาว่าจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาขนส่งพิพาทให้โจทก์หรือไม่เพียงใด ต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางทะเลของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากคู่สัญญาขนส่งคือผู้ส่งและผู้ขนส่งได้ตกลงไว้เช่นนั้นตามมาตรา 13 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 ข้อต่อสู้ดังกล่าวจำเลยหาได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้เพราะถือว่ามิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ตามป.วิ.พ. มาตรา 249
ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีกฎหมายว่าด้วย การรับขนทางทะเลและไม่ปรากฏว่า มีจารีตประเพณีว่าด้วยการนี้จึงต้องใช้ ป.พ.พ.บรรพ 3ลักษณะ 8 เรื่องรับขน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรค 3
ข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดที่เขียนไว้ด้านหลังใบตราส่งนั้นหากไม่ปรากฏว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งย่อมเป็นโมฆะตามป.พ.พ. มาตรา 625.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นบริษัทจำกัดตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศเดนมาร์กเป็นเจ้าของกิจการเดินเรือระหว่างประเทศร่วมกัน และมีสำนักงานสาขาในประเทศไทยใช้ชื่อร่วมกันว่า ‘สายการเดินเรือเมอส์ก’ หรือ ‘สายการเดินเรือเมอส์ก สาขากรุงเทพฯ’เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2523 บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้สั่งซื้อเครื่องอะไหล่รถแทรกเตอร์จากบริษัทเอ็กสเป็ค จำกัด ในราคารวมค่าขนส่งจากเมืองโอคแลนด์ประเทศสหรัฐอเมริกาถึงกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โดยผู้ซื้อได้เอาประกันภัยสินค้าไว้กับโจทก์ จำเลยทั้งสองได้รับจ้างขนสินค้ารายนี้บรรทุกลงเรือของจำเลยทั้งสองจากเมืองโอคแลนด์มาถึงท่าเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2523 ปรากฏว่า สินค้าสูญหายไปเป็นเงิน 2,630.03 เหรียญสหรัฐ และเมื่อคำนวณความเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว ผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย3,331.06 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยขณะที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เอาประกันภัยไปเป็นเงิน 68,120.18 บาท โจทก์เรียกร้องให้สาขาของจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว แต่จำเลยยืนยันจะชำระเพียง 10,235 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน68,120.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคล จดทะเบียนในต่างประเทศ ไม่มีสาขาในประเทศไทย ‘สายเดินเรือเมอส์ก’ หรือ’สายเดินเรือเมอส์ก สาขากรุงเทพฯ’ เป็นชื่อห้างหุ้นส่วนสามัญ ไม่จดทะเบียน มีสำนักงานของห้างในประเทศไทย มีจำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วน ฐานะของห้างแยกออกจากจำเลยทั้งสองหาได้เป็นสาขาของจำเลยทั้งสองไม่ ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวเป็นเพียงตัวแทนของจำเลยในประเทศไทย เพื่อติดต่อกับส่วนราชการในการนำเรือเข้าออกราชอาณาจักรไทยให้แก่เจ้าของเรือ แม้ศาลฟังว่าห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเป็นสาขาของจำเลยทั้งสอง โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งให้รับผิด เพราะสัญญาขนส่งได้ทำกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามจำเลยไม่ต้องรับผิดในการที่ของขาดหายไปจากรายการในใบกำกับสินค้า เพราะการบรรจุหีบห่อมิได้ทำต่อหน้าจำเลยจำเลยจึงไม่ทราบว่าสินค้ามีครบจำนวนตามที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้าหรือไม่ และหากสินค้าหายไปจริงก็มีมูลค่าไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ คู่สัญญาขนส่งรายนี้ผู้ส่งมีสัญชาติอเมริกัน ส่วนจำเลยมีสัญชาติเดนมาร์ก การบังคับตามสาระสำคัญหรือผลของสัญญาต้องใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่ทำสัญญาคือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางทะเล ค.ศ. 1936 ของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งกำหนดว่า ผู้ขนส่งต้องรับผิดในกรณีที่ของสูญหายหรือเสียหายไม่เกิน 500 เหรียญสหรัฐ ต่อ 1 หีบห่อ ซึ่งตามใบตราส่งมีข้อสัญญาให้นำกฎหมายดังกล่าว มาใช้กับกรณีสินค้าสูญหาย ดังนั้น ความรับผิดของจำเลยอย่างสูงจึงไม่เกิน 500เหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทยไม่เกิน 10,000 บาท ผู้รับโอนใบตราส่งไม่ได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องใช้เงินแก่ผู้รับโอนใบตราส่งและโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยการรับช่วงสิทธิมาจากบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับโอนใบตราส่งจากผู้ส่งสินค้า โจทก์จึงต้องผูกพันตามข้อกำหนดดังกล่าวในสัญญาด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า สายเดินเรือเมอส์ก สาขากรุงเทพฯ เป็นสาขาของจำเลยทั้งสองและสินค้าที่รับขนมานั้นปรากฏความเสียหายขึ้นในประเทศไทย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองยังศาลไทยให้รับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ จำเลยส่งมอบสินค้าให้ผู้รับไม่ครบถ้วน โดยเกิดความเสียหายขึ้นระหว่างขนส่ง จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิด ดังนั้นเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน68,120.18 บาท ให้แก่ผู้รับตราส่งไปแล้วจึงได้รับช่วงสิทธิข้อจำกัดความรับผิดในใบตราส่งนั้นอยู่นอกเหนือรายการในใบตราส่งตามกฎหมายทั้งผู้ตราส่งและผู้รับตราส่งมิได้ตกลงด้วย พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 68,120.18 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียม โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาทแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ 1,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนมีสำนักงานใหญ่อยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา และจดทะเบียนพาณิชย์ตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย โดยได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการประกันภัยในประเทศไทย จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศเดนมาร์ก ประกอบกิจการขนส่งเดินเรือระหว่างประเทศและกิจการอื่นๆ จดทะเบียนพาณิชย์ ตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย โดยสำนักงานสาขาของจำเลยนี้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ มีจำเลยทั้งสองเป็นหุ้นส่วน ประกอบกิจการขนส่งเดินเรือระหว่างประเทศ เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2523 บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลเอ็นยิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยได้สั่งซื้อเครื่องอะไหล่รถแทรกเตอร์และอะไหล่เครื่องยนต์จากบริษัทเอ็กสเป็ค จำกัด ซึ่งอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทผู้ขายได้จ้างจำเลยทั้งสองขนส่งสินค้านั้นมายังประเทศไทย โดยทำการขนส่งมาทางทะเล ในการนี้บริษัทผู้ซื้อได้ประกันภัยสินค้าดังกล่าวไว้กับบริษัทโจทก์ ครั้นเมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพ ปรากฏว่าหีบห่อบรรจุสินค้าบางหีบห่อแตกชำรุด สินค้าสูญหายไปบางส่วน พนักงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ทำการสำรวจร่วมกับฝ่ายเจ้าของเรือ ปรากฏว่าสินค้าสูญหายไปดังปรากฏตามรายงานการสำรวจความเสียหายเอกสารหมาย จ.12 ต่อมาผู้สั่งซื้อหรือผู้รับตราส่งได้ทำการสำรวจค่าเสียหายอีก โดยให้บริษัทเอเฟียไทย จำกัด ทำการสำรวจปรากฏว่ามีจำนวนสินค้าสูญหายเพิ่มขึ้นอีก ดังปรากฏตามรายงานการสำรวจความเสียหายเอกสารหมาย จ.7 เป็นจำนวนค่าเสียหายทั้งหมด 2,630.03 เหรียญสหรัฐ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับตราส่งไปแล้วเป็นเงิน 68,120.18 บาท
ประเด็นข้อพิพาทซึ่งจะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกามีเพียงว่าสินค้าที่จำเลยขนส่งมานั้นสูญหายไปเป็นจำนวนเท่าใด และจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด สำหรับประเด็นข้อแรกนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพ ปรากฏว่าสินค้าเสียหายโดยลังแตก 1 ลัง คือลังเลขที่1756 ซึ่งพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้สำรวจความเสียหายไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.12 แต่โจทก์นำสืบอ้างว่าหลังจากพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยทำการสำรวจความเสียหายแล้ว ต่อมาผู้รับตราส่งได้ทำการสำรวจความเสียหายอีก โดยให้บริษัทเอเฟียไทย จำกัด ทำการสำรวจ ปรากฏว่าสินค้าได้สูญหายมากกว่าในรายการสำรวจเอกสารหมาย จ.12 คือ จำนวนสินค้าในลังเลขที่ 1756สูญหายเพิ่มขึ้นอีก และยังมีสินค้าในลังอื่นๆ อีก 14 ลัง สูญหายไปบางส่วน เนื่องจากฝากล่องแตกหักและบางกล่องฉีกขาดดังปรากฏตามรายงานการสำรวจเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งบริษัทเอเฟียไทย จำกัด ได้จัดทำขึ้น ทางฝ่ายจำเลยนำสืบลอยๆ ว่า เมื่อผู้ส่งนำสินค้ามามอบให้จำเลยทำการขนส่งนั้นสินค้าได้บรรจุหีบห่อมาเรียบร้อยแล้วจำเลยไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบว่ามีสินค้าครบถ้วนตามใบกำกับสินค้าหรือไม่โดยจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้างว่า สินค้ามิได้สูญหายไปดังที่โจทก์ฟ้อง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า นอกจากสินค้าจะสูญหายไปตามรายการเอกสารหมาย จ.12 นั้นแล้ว ยังมีสินค้าในลังเลขที่ 1756 และในลังอื่นๆ สูญหายไปอีก ดังปรากฏตามรายงานการสำรวจเอกสารหมาย จ.7 รวมเป็นราคาทั้งสิ้น 2,630.03 เหรียญสหรัฐ
ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปก็คือ จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยฎีกาอ้างว่า การที่จะพิจารณาว่าจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพียงใดนั้น ต้องนำกฎหมายว่าด้วย การขนส่งสินค้าทางทะเลของสหรัฐอเมริกามาปรับแก่คดี เพราะผู้ส่งและผู้ขนส่งได้ตกลงกันให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางทะเลของประเทศสหรัฐอเมริกา พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ว่า กรณีนี้ต้องใช้กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางทะเลของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 13 เพราะคู่สัญญาในการขนส่งเป็นคนต่างสัญชาติกันแต่ในชั้นฎีกาจำเลยกลับมาอ้างว่า ต้องใช้กฎหมายว่าด้วยการขนส่งสินค้าทางทะเลของสหรัฐอเมริกามาใช้บังคับ เนื่องจากคู่สัญญาคือผู้ส่งและผู้ขนส่งได้ตกลงกันไว้เช่นนั้นซึ่งไม่ตรงกับข้ออ้างในคำให้การ ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาแล้วในตอนต้นว่า สินค้าที่ส่งมานั้นได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งรวมเป็นราคาทั้งสิ้น 2,630.03เหรียญสหรัฐ แต่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายมาทั้งสิ้น 3,331.06เหรียญสหรัฐ โดยบรรยายฟ้องว่า สินค้าสูญหายไปในขณะขนส่ง2,630.03 เหรียญสหรัฐ เมื่อคำนวณความเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้วเสียหายเป็นเงิน 3,331.06 เหรียญสหรัฐ ค่าเสียหายที่เรียกเพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้ความว่าเป็นค่าเสียหายเนื่องจากอะไร เกิดจากการกระทำของจำเลยหรือไม่ และการคำนวณนั้นอาศัยหลักเกณฑ์อะไรจำเลยจึงไม่ควรรับผิดในจำนวนเงินที่เรียกเพิ่มขึ้นนี้ ควรรับผิดตามจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงคือ 2,630.03 เหรียญสหรัฐเมื่อเทียบเป็นเงินไทยในอัตรา 1 เหรียญสหรัฐต่อ 20.45 บาท ตามอัตราที่โจทก์อ้างมาในฟ้องนั้นแล้ว เป็นจำนวนเงิน 53,784.11บาท ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่า ตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.2 ได้จำกัดความผิดไว้ในข้อ 5 (2) ว่า ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดเกินกว่า 500 เหรียญสหรัฐต่อ 1 หีบห่อ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกานั้นพิเคราะห์แล้วปรากฏว่าคดีนี้พิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องสัญญารับขนของทางทะเล ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคสอง บัญญัติให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนทางทะเล แต่ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการรับขนทางทะเลใช้บังคับและไม่ปรากฏว่า มีจารีตประเพณีเกี่ยวด้วยการนี้ จึงต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8 เรื่องรับขน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงมาปรับแก่คดี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 625 ได้บัญญัติไว้ว่า ‘ใบรับ ใบตราส่งหรือเอกสารอื่นๆ ทำนองนั้นก็ดี ถ้ามีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งประการใด ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น’ ตามที่จำเลยอ้างข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดในใบตราส่งดังกล่าวแล้วนั้น พยานหลักฐานของจำเลยคดียังฟังไม่ได้ว่า ในการขนส่งสินค้าที่พิพาทกันนี้ผู้ส่งได้ตกลงยินยอมโดยชัดแจ้งเกี่ยวกับข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดนั้นด้วย ข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดตามที่กำหนดไว้ในใบตราส่งนั้นจึงตกเป็นโมฆะ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 53,784.11 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จ ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกาแก่โจทก์ 800 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์’.

Share