คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 285/2468

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กำหนดเวลาล่วงเลยการลงอาญา

ย่อยาว

คดีนี้ศาลฎีกาได้ตัดสิน (ฎีกาที่ ๕๙๐/๕๘) ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๘ ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๔๙-๒๕๐-๕๓ แล ๕๕ จำคุก ๕ ปีจำเลยหนี ศาลอาญาออกหมายจับลงวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๘ ต่อมาอีก ๙ ปี จับจำเลยได้ในวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๗ ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๗ แล้วทำคำสั่งแสดงเหตุว่า นับแต่วันออกหมายจับจนจับตัวจำเลยได้เกิน ๕ ปี เปนการพ้นเวลาจะลงโทษจำเลยเสียแล้วตามมาตรา ๘๒ ข้อ ๓ แล ๘๖ ให้ปล่อยตัวจำเลย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการนับเวลาตามมาตรา ๘๒ ต้องตั้งต้นนับตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง ตามฎีกาที่ ๓๘๔/๖๓,๑๐๗๒/๖๔,๗๐๕/๖๕ จึงจะถือว่าคดีถึงที่สุดได้ คำพิพากษาเรื่องนี้อ่านวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๗ ฉนั้นจำเลยนี้ยังไม่พ้นการลงอาญาแลถ้าจะตั้งตันนับเวลาใหม่แต่วันออกหมายจับ ศาลจะต้องถือตามนัยแห่งฎีกาที่ ๖๐๔/๕๔ แลใช้เกณฑ์นับตามมาตรา ๗๘ ข้อ ๑ ซึ่งมีกำหนด ๒๐ ปี แต่จำเลยเรื่องนี้หนีไป ๙ ปีเศษ คดีโจทย์ยังไม่ขาดอายุความให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลฎีกา
ศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ แลให้อรรถาธิบายต่อไปว่า กฏหมายอาญาหมวดที่ ๙ ภาค ๑ บัญญัติเรื่องกำหนดเวลาไว้ ๒ อย่าง คือ
๑.ว่าด้วยกำหนดเวลาที่จะฟ้องความ ซึ่งสำหรับให้ใช้นับกำหนดเวลาขาดอายุความในคดีอาญาเริ่มใช้ได้ตั้งแต่การกระทำผิดเกิดขึ้นจนถึงก่อนเวลาศาลตัดสินถึงที่สุดอย่างหนึ่ง แล
๒.ว่าด้วยกำหนดเวลาที่แลจะล่วงเลยการลงโทษจำเลยในคดีอาญา ซึ่งสำหรับใช้นับตั้งแต่วันศาลตัดสินลงโทษจำเลยถึงที่สุดอีกอย่างหนึ่ง
กำหนดเวลาฟ้องความในประการที่ ๑ ต้องถือตามมาตรา ๗๘ ซึ่งบัญญัติประเภทคดีไว้เปนชั้น ๆ แลให้ถือเอาอัตราอย่างสูงเปนเกณฑ์สำหรับนับเวลาตามฎีกาที่ ๖๐๔/๕๔
กำหนดเวลาล่วงเลยการลงอาญาในประการที่ ๒ นั้น นับตั้งแต่วันศาลพิพากษาคดีถึงที่สุด คือ นับตั้งแต่วันศาลอ่านคำพิพากษา คำตัดสินที่ยังไม่ได้อ่านนั้นจะนับว่าถึงที่สุดไม่ได้ตามมาตรา ๘๓

Share