คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 501/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่พิพาท ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลย แต่เมื่อจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าเดิมที่พิพาทเป็นของบิดามารดาโจทก์จำเลย และตกทอดเป็นมรดกที่โจทก์และจำเลยครอบครองร่วมกัน ขอให้แบ่งแก่จำเลยครึ่งหนึ่งโจทก์จึงอ้างในคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่าโจทก์ได้ที่พิพาทมาโดยบิดาทำพินัยกรรมยกให้ ก่อนบิดาตายได้ยกสิทธิครอบครองให้โจทก์ โจทก์แจ้งการครอบครองที่พิพาทจนได้รับ ส.ค. 1เป็นหลักฐานนั้นเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่โจทก์มีอำนาจกระทำได้หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่ประการใดไม่และการที่ศาลอุทธรณ์รับฟังพินัยกรรมดังกล่าว ก็มิใช่เป็นการรับฟังว่าพินัยกรรมมีผลบังคับในฐานะเป็นพินัยกรรม แต่เป็นการรับฟังประกอบพฤติการณ์ที่โจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่พิพาทมาก่อนบิดาผู้ทำพินัยกรรมตาย อันเป็นเหตุให้โจทก์ไปทำ ส.ค.1 ไว้เท่านั้น จึงไม่เป็นการรับฟังพยานหลักฐานฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87.(ที่มา-เนติ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท จำเลยได้มาขอปลูกบ้านอยู่อาศัย โจทก์ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายออกไป จำเลยเพิกเฉยขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าเดิมที่พิพาทเป็นของบิดามารดาโจทก์จำเลย แล้วเป็นมรดกตกทอดมายังบุตร 7 คนรวมทั้งโจทก์จำเลย แต่บุตรคนอื่นสละสิทธิ จึงเหลือโจทก์จำเลยครอบครองร่วมกันขอให้ยกฟ้องและแบ่งที่พิพาทให้จำเลยครึ่งหนึ่ง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าบิดาซึ่งตายทีหลังทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้โจทก์และก่อนที่บิดาจะตายโจทก์ได้ไปขอออก ส.ค.1 ไว้ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและยกฟ้องแย้ง จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อที่จำเลยฎีกาว่าเมื่อเริ่มต้นฟ้องคดีโจทก์กล่าวในฟ้องว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ที่พิพาท แต่เมื่อจำเลยฟ้องแย้งว่าที่พิพาทเดิมเป็นของบิดามารดาโจทก์จำเลย โจทก์จำเลยครอบครองร่วมกัน ขอให้พิพากษาให้โจทก์แบ่งที่พิพาทให้จำเลยครึ่งหนึ่ง โจทก์กลับให้การแก้ฟ้องแย้งว่าโจทก์ได้ที่พิพาทมาโดยพินัยกรรม และต่อมาในชั้นพิจารณาโจทก์อ้างพินัยกรรมเป็นพยานตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งจำเลยไม่มีโอกาสคัดค้านเอกสารดังกล่าวเป็นการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์อ้างในคำให้การแก้ฟ้องแย้งและนำสืบโดยอ้างพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานนั้นเป็นเพียงการกล่าวอ้างและนำสืบถึงที่มาแห่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทว่านายอ่อนบิดาโจทก์ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้โจทก์เมื่อปีพ.ศ.2496 แต่ก่อนนายอ่อนตายขณะที่พินัยกรรมยังไม่มีผลบังคับนายอ่อนก็ยกสิทธิครอบครองที่พิพาทให้โจทก์ โจทก์จึงแจ้งการครอบครองที่พิพาทเป็นของโจทก์จนได้รับ ส.ค.1 เป็นหลักฐานคือเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่โจทก์มีอำนาจกระทำได้หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่ประการใดไม่ ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์รับฟังพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.1 ว่านายอ่อนบิดาโจทก์ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้โจทก์ไม่เกี่ยวกับประเด็นตามฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87 นั้นเห็นว่าการที่ศาลอุทธรณ์รับฟังพินัยกรรมเอกสารหมายจ.1 มิใช่เป็นการรับฟังว่าพินัยกรรมมีผลบังคับในฐานะเป็นพินัยกรรมแต่เป็นการรับฟังประกอบพฤติการณ์แห่งการที่โจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่พิพาทก่อนนายอ่อนผู้ทำพินัยกรรมตายอันเป็นเหตุให้โจทก์ไปทำ ส.ค.1 เอกสารหมาย จ.2 ไว้เท่านั้นหาเป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยฝ่าฝืนมาตรา 87 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ข้อที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมีสิทธิในที่พิพาทครึ่งหนึ่งนั้นเมื่อคดีได้ความว่านายอ่อนได้ยกที่พิพาทให้โจทก์ก่อนนายอ่อนตายที่พิพาทจึงหาใช่ทรัพย์ในกองมรดกของนายอ่อนซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับในฐานะทายาทนายอ่อนไม่ ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทโดยยึดถือเพื่อตนตลอดมา ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองนั้น โจทก์มีตัวโจทก์มาสืบว่าจำเลยแต่งงานแยกครอบครัวไปอยู่กับสามีเป็นเวลานานมาแล้ว เพิ่งมาขออยู่อาศัยในที่พิพาทเมื่อประมาณ 10 ปีมานี้ขณะที่นายอ่อนยังไม่ตาย นายอ่อนให้ถามโจทก์โจทก์ยอมให้อาศัยกับมีนายพันศรีเพ็ชร์สะแกที่โจทก์จำเลยและนายไกรโรจน์บุญถึงมาสืบว่าจำเลยแต่งงานแล้วไปอยู่กับสามีเพิ่งย้ายมาอยู่ในที่พิพาท ภายหลังเมื่อมีบุตรได้ 3-4 คนแล้วเมื่อฟังคำของโจทก์กับพยานบุคคลทั้งสองปากนี้ประกอบด้วย ส.ค.1 เอกสารหมาย จ.2 พยานหลักฐานโจทก์ก็มีน้ำหนักน่าเชื่อว่าจำเลยมาอาศัยโจทก์อยู่ในที่พิพาทส่วนพยานจำเลยที่นำสืบถึงการครอบครองที่พิพาท แม้มีพยานจำเลยหลายปากเบิกความว่าจำเลยแต่งงานกับนายตู้แล้วยังคงอาศัยอยู่กับบิดามารดาโจทก์จำเลยหลายปีแล้วแยกครอบครัวปลูกเรือนอยู่ในที่พิพาทนานประมาณ 30 ปีจนบัดนี้แต่จำเลยไม่มีเอกสารมาสืบสนับสนุนพยานจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share