คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 361/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ปัญหาเรื่องวิธีเพิ่มโทษและการคำนวณลดโทษเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่าในชั้นอุทธรณ์จำเลยย่อมยกขึ้นว่าในชั้นฎีกาได้และแม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจจะยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 ในการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลงให้ศาลตั้งกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเสียก่อนแล้วจึงเพิ่มหรือลด ถ้า มีทั้งการเพิ่มและการลดโทษที่จะลง ให้เพิ่มก่อนแล้วจึงลดจากผลที่เพิ่มแล้วนั้นเมื่อศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 แล้ว แม้โจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ศาลก็เพิ่มโทษ จำเลยที่ 1 อีกมิได้เพราะเป็นโทษประหารชีวิตจึงคงต้องลดโทษให้จำเลยที่ 1 สถานเดียวจะไม่เพิ่มไม่ลดเพราะเหตุที่ส่วนของการเพิ่มเท่ากับส่วนของการลดหาได้ไม่.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองกับพวกอีก4 คน ที่หลบหนีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี,309, 310, 371, 276, 286, 80, 83, 91, 93 ริบปลอกกระสุนปืนหัวกระสุนปืนลูกซอง 6 หัว และหมอนหน้าอัดกระสุนปืนลูกซองของกลางส่วนของกลางอื่นให้คืนแก่เจ้าของ เพิ่มโทษให้จำเลยที่ 1 ตามกฎหมายและนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อกับโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 456/2527ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 1 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1มีความผิดรวม 8 กระทง คือ มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยมิชอบด้วยกฎหมายฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม่เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จำคุกฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน 1 ปี 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 ปี ฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340,340 ตรี จำคุก 20 ปี ความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 จำคุก 1 ปี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310จำคุก 6 เดือน ฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 วางโทษประหารชีวิต ฐานร่วมข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 จำคุกตลอดชีวิต และฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ประกอบด้วยมาตรา 81 และมาตรา 52จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนซึ่งจะต้องเพิ่มโทษหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 และมาตรา 93จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ซึ่งตามพฤติการณ์แห่งคดีเห็นสมควรลดโทษให้หนึ่งในสาม แต่ส่วนของการเพิ่มเท่ากับส่วนของการลด จึงไม่เพิ่มไม่ลดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54เนื่องจากโทษของจำเลยที่ 1 ทั้ง 8 กระทง มีทั้งโทษจำคุกมีกำหนดเวลาจำคุกตลอดชีวิตและประหารชีวิต จึงให้บังคับเฉพาะโทษประหารชีวิตให้งดบังคับคดีสำหรับโทษจำคุก เพราะศาลลงโทษประหารชีวิตแล้วไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 456/2527 ของศาลชั้นต้นเพราะคดีนี้ศาลมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ริบปลอกกระสุนปืนหัวกระสุนปืน และหมอนหน้าอัดกระสุนปืนลูกซองของกลาง ส่วนของกลางอื่นนอกจากนี้ให้คืนเจ้าของ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ลดโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ควรลดโทษให้แก่จำเลยและเมื่อศาลลงโทษประหารชีวิตจำเลยแล้วเพิ่มโทษอีกไม่ได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เมื่อศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิตแล้วเพิ่มโทษอีกได้หรือไม่ ข้อนี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่าในชั้นอุทธรณ์แต่ปัญหาเรื่องวิธีเพิ่มโทษเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยย่อมยกขึ้นว่าในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225พิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา 54 บัญญัติว่า ในการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลงให้ศาลตั้งกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเสียก่อนแล้วจึงเพิ่มหรือลด ถ้ามีทั้งการเพิ่มและการลดโทษที่จะลง ให้เพิ่มก่อนแล้วจึงลดจากผลที่เพิ่มแล้วนั้น ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาลงโทษให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 แล้ว แม้โจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ศาลก็เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 อีกมิได้เพราะเป็นโทษประหารชีวิต จึงคงต้องลดโทษให้จำเลยที่ 1 สถานเดียวที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าส่วนของการเพิ่มเท่ากับส่วนของการลดและไม่เพิ่มไม่ลดโทษของจำเลยที่ 1 ในกรณีนี้จึงเป็นการไม่ชอบสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
อนึ่ง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 รวมทุกกระทงจำคุก 22 ปี 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด16 วันนั้น คำนวณลดโทษให้ไม่ถูกต้อง ที่ถูกเมื่อคำนวณลดโทษให้จำเลยที่ 2 ตามอัตราส่วนดังกล่าวแล้ว คงต้องจำคุกจำเลยที่ 2 เพียง15 ปี แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ แต่การคำนวณลดโทษไม่ถูกต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่น หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ประกอบมาตรา 52(1) คงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อรวมโทษความผิดทุกกระทงแล้ว คงให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา91(3) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อนั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1เป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 456/2527 ของศาลชั้นต้น จึงไม่นับโทษต่อให้ กับให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 15 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.

Share