คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7257/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ ส. ป. และ ก. พยานโจทก์จะเป็นเพื่อนกับ ว. หลานจำเลยที่ 3 แต่พยานโจทก์ดังกล่าวก็รู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงขนาดไปดูโทรทัศน์ที่บ้านจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ทั้งพยานทั้งสามเบิกความตรงกับที่ให้การในชั้นสอบสวนซึ่งให้การหลังเกิดเหตุเพียง 5 วัน และยังเบิกความสอดคล้องกันในเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำร้ายจำเลยที่ 3 ประกอบกับจำเลยที่ 1 เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า พยานยิงปืนออกไปนัดแรกขณะจำเลยที่ 3 นอนหงายอยู่บนเบาะรถยนต์กระบะโดยมีจำเลยที่ 2 นอนคว่ำทับอยู่ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 3 และเมื่อพิเคราะห์ถึงอาวุธที่จำเลยที่ 1 ใช้ทำร้ายประกอบบาดแผลที่จำเลยที่ 3 ได้รับที่หัวไหล่ข้างขวาและคำพูดของจำเลยที่ 1 ที่ว่า “ดึงกุญแจไว้ เอาให้ตาย” แม้จำเลยที่ 1 จะยิงถูกจำเลยที่ 3 เพียงนัดเดียว ก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าจำเลยที่ 3 แล้ว
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าทำร้ายจำเลยที่ 3 ก่อน จำเลยที่ 1 จึงอ้างว่ากระทำโดยป้องกันไม่ได้
แม้โจทก์ไม่ได้อาวุธปืนของจำเลยที่ 1 มาเป็นพยาน แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีและใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับว่าไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืน และเบิกความรับในชั้นพิจารณาว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 ซื้อมาจาก ศ. โดย ศ. ตกลงจะโอนทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลัง ดังนี้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสาม ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 295, 297, 371, 80, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิริบของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีอาญา หมายเลขดำที่ 1671/2540 ของศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 4ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 กับที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 จำคุกคนละ 10 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 1 ปี กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคแรก จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก, 72 วรรคแรก, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 ปี ฐานพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี รวมจำคุก จำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 15 ปี ริบของกลาง ที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1671/2540 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังไม่ได้พิพากษา จึงให้ยก

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ประกอบด้วยมาตรา 69 ให้จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ให้จำคุก 1 ปี และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก, 72 วรรคแรก, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 11 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 8 ปีทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มี กำหนด8 ปี 3 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 6 ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพยายามฆ่าจำเลยที่ 3 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 3 หรือไม่ โจทก์มีนางสาวเสาวลักษณ์ กรองแก้วนางสาวปรารถนา จันทราภัย และนางสาวเกวรินทร์ จันทรพิมพ์ เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุขณะที่พยานโจทก์ทั้งสามกับนายวินัยหรือดุลย์พิจารณากำลังดูโทรทัศน์ในร้านของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น มีจำเลยที่ 3 ขับรถกระบะไปที่ร้านและไขกระจกลง จำเลยที่ 3 ร้องขอซื้อเบียร์ 1 ขวด จำเลยที่ 2 บอกไม่ขาย และให้จำเลยที่ 3 นำรถไปจอดที่อื่น จำเลยที่ 3 เถียงว่า เป็นถนนหลวงทำไมจอดไม่ได้ จำเลยที่ 2 เดินไปกระชากคอเสื้อจำเลยที่ 3 แล้วพูดว่า “มึงจะเอาอย่างไรกับกู” จำเลยที่ 3 ตอบว่า ไม่เอาอย่างไร หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 กอดปล้ำกันอยู่ในรถกระบะของจำเลยที่ 3ตรงเบาะนั่งคนขับ ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งยืนอยู่ที่หน้าร้านวิ่งเข้าไปในร้านและถือห่อผ้าสีฟ้าออกมา พร้อมกับพูดว่า “ดึงกุญแจไว้ เอาให้ตาย” แล้วถือห่อผ้าดังกล่าวซึ่งมีอาวุธปืนอยู่ผ่านช่องกระจกหน้าต่างเข้าไปยิงจำเลยที่ 3 และมีจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงถูกจำเลยที่ 3 ที่หัวไหล่ 1 นัด และจำเลยที่ 3 ถูกจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ใช้อาวุธปืนตีที่ศีรษะ เห็นว่าแม้พยานโจทก์คือ นางสาวเสาวลักษณ์ นางสาวปรารถนา และนางสาวเกวรินทร์จะเป็นเพื่อนกับนายวินัยหรือดุลย์หลานจำเลยที่ 3 แต่พยานโจทก์ดังกล่าวก็รู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถึงขนาดไปดูโทรทัศน์ที่บ้านจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พยานทั้งสามก็เบิกความตรงกับที่ให้การชั้นสอบสวน ซึ่งให้การหลังเกิดเหตุเพียง 5 วัน และยังเบิกความสอดคล้องกันในเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำร้ายจำเลยที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า พยานยิงปืนออกไปนัดแรกขณะจำเลยที่ 3 นอนหงายอยู่บนเบาะรถยนต์กระบะโดยมีจำเลยที่ 2 นอนคว่ำทับอยู่ ทั้งเมื่อพิเคราะห์ถึงอาวุธที่จำเลยที่ 1 ใช้ทำร้ายประกอบบาดแผลที่จำเลยที่ 3 ได้รับและคำพูดของจำเลยที่ 1 ที่ว่า “ดึงกุญแจไว้ เอาให้ตาย” แม้จำเลยที่ 1 จะยิงถูกจำเลยที่ 3 เพียงนัดเดียวก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าจำเลยที่ 3 แล้ว และจำเลยที่ 2 เบิกความรับว่าเหวี่ยงปืนโดนที่บริเวณศีรษะจำเลยที่ 3 จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 พยายามฆ่าจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 ทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 3 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมานั้นเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าทำร้ายจำเลยที่ 3 ก่อน จำเลยที่ 1 จึงอ้างว่ากระทำโดยป้องกันหาได้ไม่ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เมื่อโจทก์ไม่มีอาวุธปืนของกลางมาแสดง และไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่า อาวุธปืนที่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นอาวุธปืนแบบใด ชนิดใดและกระบอกใด จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาดังกล่าวไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้โจทก์ไม่ได้อาวุธปืนของจำเลยที่ 1 มาเป็นพยาน แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีและใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 3 ตามคำเบิกความของร้อยตำรวจโทจาตุรนต์ บุษปะเกศ พนักงานสอบสวนก็ได้ความว่าในการสอบสวนจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับว่าไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.19 และในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ก็เบิกความรับว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 ซื้อมาจากนายศร โดยนายศรตกลงจะโอนทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลังและศาลอุทธรณ์ก็ลงโทษจำเลยที่ 1 เพียงมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครอง โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสาม เท่านั้น อันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 แล้วฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อสุดท้ายขอให้ลงโทษเบาลงนั้นเห็นว่า ในข้อหาพยายามฆ่าศาลล่างทั้งสองลงโทษขั้นต่ำและลดโทษให้อีกหนึ่งในสี่อีกด้วยเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 อยู่แล้ว ไม่มีเหตุจะลดโทษลงอีกและที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นต้นเหตุผู้ก่อคดีนี้ขึ้นจึงไม่มีเหตุควรรอการลงโทษให้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share