คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7219/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยอ้างและขอคำสั่งศาลเรียกประวัติการตรวจรักษาของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเป็นพยานเอกสาร เมื่อโรงพยาบาลส่งเอกสารมาแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานกระบวนการพิจารณาถึง 2 ครั้ง ให้จำเลยชำระค่าอ้างเอกสารเป็นพยาน แต่จำเลยไม่ชำระในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาโจทก์ได้กล่าวแก้อุทธรณ์เป็นประเด็นว่าจำเลยไม่ชำระค่าอ้างเอกสารเป็นพยาน จำเลยมิได้นำค่าอ้างเอกสารเป็นพยานมาชำระต่อศาล ดังนี้แสดงว่าจำเลยจงใจไม่ชำระค่าอ้างเอกสารเป็นพยานตามตาราง 2(5)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เอกสารดังกล่าวจึงเป็นพยานหลักฐานที่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งศาลชอบที่จะปฏิเสธไม่รับเอกสารนั้นไว้และถ้ารับไว้แล้วก็ไม่ชอบที่จะรับฟังเอกสารนั้น ศาลจึงนำข้อความในเอกสารดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยไม่ได้
ส. กรอกข้อความหรือตอบคำถามจำเลยไปตามความเป็นจริง สัญญาประกันชีวิตระหว่าง ส. กับจำเลยจึงไม่เป็นโมฆียะ จำเลยไม่มีสิทธิบอกล้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของนายสมชาย นายสมชายได้ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับจำเลย โดยกำหนดให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ไว้ ต่อมานายสมชายถึงแก่กรรม โจทก์นำกรมธรรม์ประกันภัยไปขอรับเงินค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแล้ว แต่จำเลยตอบปฏิเสธ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน335,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งบอกล้างสัญญาประกันชีวิตและปฏิเสธการจ่ายเงิน ซึ่งเป็นการใช้สิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบความจริง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 35,625 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535 นายสมชาย รัตนเสริมทรัพย์ ได้ยื่นคำขอเอาประกันชีวิตต่อจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1ต่อมาจำเลยได้รับประกันชีวิตนายสมชายตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2535 ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2538 โดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต วันที่ 2 กรกฎาคม 2536 นายสมชายถึงแก่กรรมเพราะป่วยเป็นโรคมะเร็งและเลือดออกในกระเพาะอาหาร โจทก์เรียกให้จำเลยใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต วันที่ 18 ตุลาคม 2536 จำเลยแจ้งปฏิเสธการจ่ายเงินแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8

โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า สัญญาประกันชีวิตตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3ไม่เป็นโมฆียะ เพราะจำเลยมิได้ถือเอาข้อความที่กล่าวไว้และคำตอบในใบคำขอเอาประกันชีวิตเป็นสาระสำคัญถึงขนาดจะต้องเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา พิเคราะห์แล้ว ประเด็นข้อนี้โจทก์มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

โจทก์ฎีกาข้อที่สองว่า นายสมชายเป็นคนมีสุขภาพดี มิได้ดื่มสุราเป็นประจำศาลจะนำข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในประวัติการตรวจรักษาของผู้ป่วยเอกสารหมาย ล.3ที่ระบุว่านายสมชายดื่มสุราเป็นอาจิณมาประมาณ 10 ปี มาประกอบการพิจารณาและฟังตามนั้นไม่ได้ เพราะแพทย์ผู้ตรวจรักษานายสมชายมิได้มาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว และจำเลยมิได้เสียค่าอ้างเอกสารเป็นพยาน พิเคราะห์แล้ว ประวัติการตรวจรักษาของผู้ป่วยตามเอกสารหมาย ล.3 เป็นพยานเอกสารที่จำเลยอ้างและขอคำสั่งศาลเรียกมาจากโรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อโรงพยาบาลรามาธิบดีส่งเอกสารมายังศาลชั้นต้นแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาถึง 2 ครั้ง ให้จำเลยชำระค่าอ้างเอกสารเป็นพยาน จำเลยทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว แต่ไม่ชำระในชั้นอุทธรณ์โจทก์ได้กล่าวแก้อุทธรณ์เป็นประเด็นว่าจำเลยไม่ชำระค่าอ้างเอกสารเป็นพยาน จำเลยก็มิได้นำค่าอ้างเอกสารเป็นพยานมาชำระต่อศาล ในชั้นฎีกาจำเลยได้รับสำเนาฎีกาโจทก์ที่กล่าวตั้งประเด็นในเรื่องนี้อีก จำเลยก็ยังไม่ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวต่อศาล พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยจงใจไม่ชำระค่าอ้างเอกสารเป็นพยานตามตาราง 2(5) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เอกสารหมาย ล.3 จึงเป็นพยานหลักฐานที่ได้ยื่นฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลชอบที่จะปฏิเสธไม่รับเอกสารนั้นไว้ ถ้ารับไว้แล้วก็ไม่ชอบที่จะรับฟังเอกสารนั้น ศาลจึงนำข้อความในเอกสารดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยไม่ได้ ดังนั้น ในปัญหาว่านายสมชายดื่มสุราเป็นประจำหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์ซึ่งเป็นภริยาของนายสมชาย นางช่อทิพย์ งามสง่า เพื่อนร่วมงานของนายสมชาย นางวันเพ็ญ คำสุวรรณ์ เพื่อนบ้านของนายสมชาย และนางสาวลัดดา ฤกษ์ศรี ตัวแทนขายประกันชีวิตของจำเลยและเป็นผู้ที่เคยทำงานอยู่ที่บริษัทเดียวกับนายสมชายเบิกความตรงกันว่า นายสมชายเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่ดื่มสุราเป็นประจำ นายสมชายดื่มสุราเฉพาะในงานเลี้ยงและดื่มพอเป็นพิธีเท่านั้น ส่วนพยานจำเลย จำเลยมิได้นำแพทย์หรือผู้บันทึกข้อความในเอกสารหมาย ล.3 ว่า นายสมชายดื่มสุรามานาน 10 ปี มาเบิกความต่อศาล พยานอื่นของจำเลยก็มิได้รู้เห็นว่านายสมชายดื่มสุราเป็นประจำ แม้นายสมชายจะถึงแก่กรรมเพราะป่วยเป็นโรคมะเร็งและเลือดออกในกระเพาะอาหาร ก็ไม่อาจระบุได้ว่าการป่วยดังกล่าวมีสาเหตุจากการดื่มสุราเป็นประจำ เพราะนายสุรสิทธิ์ พลอยดนัย พนักงานของจำเลยซึ่งเรียนจบสาขาเทคนิคการแพทย์ก็เบิกความว่าโรคมะเร็งในตับเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เชื้อไวรัส สารพิษ ดื่มสุรา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่านายสมชายไม่ได้ดื่มสุราเป็นประจำ การที่นายสมชายระบุในใบคำขอเอาประกันชีวิตเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 25 ว่าไม่เคยดื่มสุราเป็นประจำ จึงเป็นการกรอกข้อความหรือตอบคำถามจำเลยไปตามความเป็นจริง สัญญาประกันชีวิตระหว่างนายสมชายกับจำเลยจึงไม่เป็นโมฆียะ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อสัญญาประกันชีวิตสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆียะจำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญานี้ คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้อสุดท้ายของโจทก์ที่ว่าจำเลยบอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยทราบข้อมูลอันจะบอกล้างหรือไม่อีกต่อไป”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share