คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7005/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การพิจารณาเปรียบเทียบกรณีมีผู้นำรูปลักษณะของคนหรือสัตว์หรือสิ่งของชนิดเดียวกันมาเป็นเครื่องหมายการค้าว่าเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดนั้น จะต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นโดยรวมด้วย เพราะรูปลักษณะของคนหรือสัตว์หรือสิ่งของชนิดเดียวกันนั้น ต่างย่อมมีรูปลักษณ์สามัญของมันเอง
รูปนกอินทรีที่ทั้งโจทก์และจำเลยนำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า หากสาธารณชนที่เคยเห็นนกอินทรีมาก่อน เมื่อเห็นรูปนกในเครื่องหมายการค้าของทั้งโจทก์และจำเลยก็ย่อมบอกได้ว่าเป็นรูปนกอินทรี ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการเขียนระบุชื่อไว้เลย ดังนั้นจึงไม่มีผู้ใดที่จะสงวนรูปลักษณะทั่ว ๆ ไปของนกอินทรีเอาไว้ใช้สำหรับเครื่องหมายการค้าของตนผู้เดียวได้เว้นแต่รูปนกอินทรีนั้นจะมีรูปลักษณ์เฉพาะหรืออยู่ในอริยาบถเดียวกันเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งหมดเน้นรูปนกอินทรีโดดเด่นเป็นสำคัญ โดยกางปีกหันข้างไปด้านซ้ายเกาะอยู่บนโขดหิน เครื่องหมายการค้าของโจทก์บางแบบก็มีชื่อโจทก์ทั้งอักษรไทยและอักษรโรมันเขียนเป็นวงกลมกำกับไว้หรือเขียนอยู่ใต้โขดหินที่นกอินทรีเกาะแต่ส่วนมากจะไม่มีชื่อโจทก์กำกับไว้คงเป็นรูปนกอินทรีเกาะอยู่บนโขดหินเท่านั้น นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกแบบไม่มีคำว่า “นกอินทรี”กำกับไว้ด้วยเลยเช่นกัน เป็นเพียงเน้นรูปนกอินทรีเป็นสำคัญที่ผู้ใดเห็นรูปเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วก็คงรู้ว่าเป็นรูปนกอินทรี ส่วนที่โจทก์ได้จดทะเบียนคำว่า “นกอินทรี” เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็เป็นคนละส่วนกันกับที่โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีดังกล่าว คำว่า “นกอินทรี” จึงไม่ใช่ส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้แต่อย่างใดส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแม้จะเป็นรูปนกอินทรีเหมือนกับของโจทก์ โดยเป็นรูปนกอินทรีกางปีกลักษณะโผบินหันหน้าไปด้านขวาเล็กน้อย มีรูปสามเหลี่ยมสามชั้นโดยที่จั่วของสามเหลี่ยมมีจุดวงกลมเล็กๆล้อม6จุดประกอบอยู่ด้านหลังนกอินทรีและมีถ้อยคำภาษาไทยคำว่า “อินทรีแดง” อยู่ด้านใต้ด้วย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเฉพาะรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่อาศัยรูปนกอินทรีเป็นสาระสำคัญแล้วเห็นได้ชัดเจนว่าลักษณะท่าทางรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยนั้นแตกต่างกันมาก โดยรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์เน้นรูปร่างลักษณะท่าทางของนกอินทรีทุกสัดส่วนชัดเจนเป็นสง่า ส่วนรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเพียงวางลักษณะท่าทางของนกอินทรีเพื่อให้รู้ว่ากำลังจะโผบินเท่านั้นมิได้เน้นสัดส่วนให้ชัดเจนเด่นชัดเหมือนรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งหากไม่มีคำว่า “อินทรีแดง” กำกับไว้ด้วยแล้วอาจจะเดาไม่ออกด้วยซ้ำว่าเป็นนกอินทรีทั้งคำว่า “อินทรีแดง” ก็เป็นคำเฉพาะที่ประกอบในเครื่องหมายการค้าของจำเลย ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “นกอินทรี” ที่เป็นคำสามัญใช้เรียกชื่อนกชนิดหนึ่งตามธรรมชาติ ดังนั้น โดยองค์รวมของเครื่องหมายการค้าของจำเลย วิญญูชนที่ได้เห็นหรือได้ยินเสียงเรียกขานย่อมเห็นและรู้ได้ว่าไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า และเป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าตรา “นกอินทรี” และประกอบธุรกิจการค้าเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ประเภทต่าง ๆ วัสดุการก่อสร้าง หรือการตกแต่งภายใต้เครื่องหมายการค้าตรา “นกอินทรี” ตั้งแต่ปี 2513 ติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 20 ปีโดยนำเครื่องหมายการค้าตรา “นกอินทรี” ไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2513 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์2535 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตรา “นกอินทรี” โดยใช้กับสินค้าจำพวก 50 เช่นเดียวกับโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตประสงค์ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าตรา “นกอินทรี” ของโจทก์โจทก์ยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่นายทะเบียนวินิจฉัยยกคำคัดค้าน โจทก์อุทธรณ์ แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ายกอุทธรณ์อีกขอให้จำเลยเพิกถอนการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 224399 จากกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ถ้าจำเลยไม่เพิกถอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าว และเครื่องหมายการค้าตรา “นกอินทรี” ไม่ว่ารูปแบบใด

จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีส่วนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ขอไว้แล้ว อันจะทำให้สาธารณชนสับสนหรือเข้าใจผิดขอให้ศาลยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยเพิกถอนการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ 224399 จากกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้ากรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตรานกอินทรีดังกล่าว

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อปี2513 โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปนกอินทรีกางปีกหันข้างไปด้านซ้ายอยู่ในกรอบวงกลมสองชั้น ที่มีถ้อยคำภาษาไทยว่า “บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงจำกัด” และมีอักษรโรมันว่า “SIAM CITY CEMENT CO.,LTD.” ตามเอกสารหมาย จ.4และรูปนกอินทรีกางปีกหันข้างไปด้านซ้ายเกาะอยู่บนโขดหินในกรอบวงกลมสองชั้นมีถ้อยคำภาษาไทยว่า “บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด” และมีอักษรโรมันว่า”SIAM CITY CEMENT CO.,LTD.” ตามเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาปี 2525, 2526, 2527,2529, 2530, 2531, 2532 และ 2533 โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยใช้รูปนกอินทรีในอิริยาบถอื่นอีกตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.10, จ.12 ถึง จ.59และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “นกอินทรี” ไว้ด้วยตามเอกสารหมาย จ.6และ จ.11 ซึ่งเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าว โจทก์จดทะเบียนใช้ในสินค้าจำพวกที่ 2 ถึง 4, ที่ 7 ถึง 12, ที่ 14 ถึงที่ 32, ที่ 34, ที่ 36 ถึงที่ 38, ที่ 41, ที่ 42, ที่ 44ถึงที่ 48 และที่ 50 โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ใช้ในสินค้าจำพวกที่ 50 ได้จดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2531 ตามเอกสารหมาย จ.56 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2535 จำเลยยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตรารูปนกอินทรีกางปีกลักษณะโผบินหันหน้าไปด้านขวามีรูปสามเหลี่ยมสามชั้นโดยที่จั่วของสามเหลี่ยมมีจุดวงกลมเล็ก ๆ ล้อม 6 จุด ประกอบอยู่ด้านหลังนกอินทรี และมีถ้อยคำภาษาไทยคำว่า “อินทรีแดง” อยู่ด้านใต้ด้วยเพื่อใช้ในสินค้าจำพวกที่ 50 ตามเอกสารหมาย ล.1เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2535 โจทก์ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเพราะจะทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดหรือเจ้าของสินค้าก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ตามเอกสารหมาย จ.70 นายทะเบียน เครื่องหมายการค้าวินิจฉัยแล้ว เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ให้ยกคำคัดค้านของโจทก์แล้วให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 99/2536 เอกสารหมาย จ.71โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ซึ่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2537 ยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 456/2537 เอกสารหมาย จ.73

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่าการที่จะพิจารณาเปรียบเทียบในกรณีที่มีผู้นำรูปลักษณะของคนหรือสัตว์หรือสิ่งของชนิดเดียวกันมาเป็นเครื่องหมายการค้าว่าเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดนั้น จะต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นโดยรวมด้วยเพราะรูปลักษณะของคนหรือสัตว์หรือสิ่งของชนิดเดียวกันนั้น ต่างย่อมมีรูปลักษณ์สามัญของมันเอง เช่น รูปนกอินทรีที่ทั้งโจทก์และจำเลยนำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าหากสาธารณชนที่เคยเห็นนกอินทรีมาก่อน เมื่อเห็นรูปนกในเครื่องหมายการค้าของทั้งโจทก์และจำเลยก็ย่อมบอกได้ว่าเป็นรูปนกอินทรี ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการเขียนระบุชื่อไว้เลยรวมถึงรูปนกที่มีลักษณ์เป็นลายประดิษฐ์ที่โจทก์จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าครั้งแรกตามเอกสารหมาย จ.4 ด้วย ดังนั้นจึงไม่มีผู้ใดที่จะสงวนรูปลักษณะทั่ว ๆ ไปของนกอินทรีเอาไว้ใช้สำหรับเครื่องหมายการค้าของตนผู้เดียวได้ เว้นแต่รูปนกอินทรีนั้นจะมีรูปลักษณ์เฉพาะ เช่น รูปนกอินทรีที่มีลักษณะเป็นลายประดิษฐ์ที่โจทก์จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าไว้ตามเอกสารหมาย จ.4 หรืออยู่ในอิริยาบถเดียวกัน เมื่อรูปนกอินทรีที่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างนำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนเช่นนี้ ก็ต้องพิจารณาถึงองค์รวมทั้งหมดของเครื่องหมายการค้าว่าเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่ ซึ่งตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นทั้งหมดเน้นรูปนกอินทรีโดดเด่นเป็นสำคัญ โดยกางปีกหันข้างไปด้านซ้ายเกาะอยู่บนโขดหิน ที่ต่างออกไปไม่เกาะอยู่บนโขดหินก็มีตามเอกสารหมาย จ.4, จ.57 ถึง จ.59 เครื่องหมายการค้าของโจทก์บางแบบก์มีชื่อโจทก์ทั้งอักษรไทยและอักษรโรมันเขียนเป็นวงกลมกำกับไว้ หรือเขียนอยู่ใต้โขดหินที่นกอินทรีเกาะ แต่ส่วนมากจะไม่มีชื่อโจทก์กำกับไว้เลยคงเป็นรูปนกอินทรีเกาะอยู่บนโขดหินเท่านั้น นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกแบบไม่มีคำว่า “นกอินทรี”กำกับไว้ด้วยเลยเช่นกัน เป็นเพียงเน้นรูปนกอินทรีเป็นสำคัญที่ผู้ใดเห็นรูปเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วก็คงรู้ว่าเป็นรูปนกอินทร ส่วนทีโจทก์ได้จดทะเบียนคำว่า “นกอินทรี”เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วยตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.11 ก็เป็นคนละส่วนกันกับที่โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีดังกล่าว “นกอินทรี”จึงไม่ใช่ส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้ารูปนกอินทรีที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้แต่อย่างใดต่างกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยของจำเลยที่ยื่นขอจะทะเบียนนั้นแม้จะเป็นรูปนกอินทรีเหมือนกับของโจทก์โดยเป็นรูปนกอินทรีกางปีกลักษณะโผบินหันหน้าไปด้านขวาดล็กน้อยมีรูปสามเหลี่ยมสามชั้นโดยที่จั่วของสามเหลี่ยมมีจุดวงกลมเล็ก ๆ ล้อม 6 จุด ประกอบอยู่ด้านหลังนกอินทรี และมีถ้อยคำภาษาไทยคำว่า”อินทรีแดง” อยู่ด้านใต้ด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่อาศัยรูปนกอินทรีเป็นสาระสำคัญแล้ว ก็เห็นได้ชัดเจนว่าลักษณะท่าทางรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของจำเลยนั้นแตกต่างกันมาก โดยรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์เน้นรูปร่างลักษณะท่าทางของนกอินทรีทุกสัดส่วนชัดเจนเป็นสง่า ส่วนรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเพียงวางลักษณะท่าทางของนกอินทรีเพื่อให้รู้ว่ากำลังจะโผบินเท่านั้น มิได้เน้นสัดส่วนให้ชัดเจนเด่นชัดเหมือนรูปนกอินทรีตามเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ซึ่งหากไม่มีคำว่า “อินทรีแดง” กำกับไว้ด้วยแล้วอาจจะเดาไม่ออกด้วยซ้ำว่านกอินทรี ทั้งคำว่า “อินทรีแดง” ก็เป็นคำเฉพาะที่ประกอบในเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งแตกต่างจากคำว่า “นกอินทรี” ที่เป็นคำสามัญใช้เรียกชื่อนกชนิดหนึ่งตามธรรมชาติ ดังนั้น โดยองค์ประกอบของเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 วิญญูชนที่ได้ยินเสียงเรียกขานย่อมเห็นและรู้ได้ว่าไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้ว ที่โจทก์จะขอให้เพิกถอนได้แต่เพียงอย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยมีเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อแอบอ้างชื่อเสียงของโจทก์อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าเครื่องหมายการค้าและสินค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์แล้วพิพากษาให้เพิกถอนได้นั้น ไม้ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share