คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5554/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 10 บัญญัติให้ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น หมายถึงอัตราโทษที่กฎหมายกำหนด บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นบทกำหนดโทษ หาใช่เป็นบทเพิ่มโทษไม่ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานร่วมกันขายอีเฟดรีนและให้เพิ่มโทษเป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดฯมาตรา 10 จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันมีอีเฟดรีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 40,000 เม็ด น้ำหนักสุทธิรวม 3,584 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนักรวม 45.2 กรัม อันเป็นจำนวนเกินปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้อนุญาต และจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันขายอีเฟดรีนดังกล่าวให้แก่ผู้ล่อซื้อ เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมอีเฟดรีนดังกล่าวเป็นของกลาง ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106 ทวิ, 116 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 4, 7, 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และริบของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 6(7 ทวิ), 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันขายอีเฟดรีนเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 20 ปี ให้เพิ่มโทษเป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 เป็นจำคุกคนละ 60 ปี แต่คงให้จำคุกจำเลยทั้งสองไว้คนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ริบอีเฟดรีนของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2538 เวลากลางคืน เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจทางหลวง 1กองบังคับการตำรวจทางหลวง จังหวัดนครปฐมตรวจค้นรถยนต์กระบะซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นคนขับ มีจำเลยที่ 1 นั่งไปด้วย ที่ลานจอดรถของโรงแรมเอราวัณ จังหวัดนครปฐม แล้วจับกุมจำเลยทั้งสองมาดำเนินคดี มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกวรพล สุนนท์ชัย นายดาบตำรวจสุภณ อิศรเมธางกูร และจ่าสิบตำรวจกฤษดา โต้วฮวดใช้ มาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ได้ไปร่วมตรวจค้นและจับกุมจำเลยทั้งสองด้วยกัน โดยร้อยตำรวจเอกวรพลได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี จึงสั่งการให้นายดาบตำรวจสุภณและจ่าสิบตำรวจกฤษดาปลอมตัวเป็นพ่อค้าไปติดต่อล่อซื้อ เมื่อนัดหมายกับผู้ขายได้แล้วว่าจะส่งของและชำระเงินกันที่ลานจอดรถของโรงแรมเอราวัณ นายดาบตำรวจสุภณและจ่าสิบตำรวจกฤษดาจึงได้รายงานให้ร้อยตำรวจเอกวรพลทราบ ร้อยตำรวจเอกวรพลวางแผนจับกุมโดยให้นายดาบตำรวจสุภณและจ่าสิบตำรวจกฤษดานำรถยนต์เก๋งพร้อมเงินที่ใช้ล่อซื้อไปจอดรอที่ลานจอดรถของโรงแรมดังกล่าว ส่วนร้อยตำรวจเอกวรพลและเจ้าพนักงานตำรวจรวม 9 คน ซุ่มดูอยู่ เวลา 20 นาฬิกาเศษจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะเข้ามาจอดเทียบ แล้วจำเลยทั้งสองลงจากรถยนต์มายืนคุยกับนายดาบตำรวจสุภณและจ่าสิบตำรวจกฤษดา จำเลยที่ 1 บอกให้จำเลยที่ 2 หยิบถุงพลาสติกซึ่งวางอยู่ที่กระบะท้ายรถมาส่งให้นายดาบตำรวจสุภณเปิดดู เมื่อเห็นว่าเป็นวัตถุออกฤทธิ์ นายดาบตำรวจสุภณ จึงใช้มือลูบศรีษะเป็นสัญญาณให้เจ้าพนักงานตำรวจที่ซุ่มดูอยู่กรูเข้ามาจับจำเลยทั้งสองไว้ได้ ถุงพลาสติกที่นายดาบตำรวจสุภณเปิดดูนั้นมีวัตถุออกฤทธิ์บรรจุอยู่ 40,000 เม็ด เห็นว่าพยานโจทก์ผู้จับกุมทั้งสามปากดังกล่าวเบิกความสอดคล้องต้องกันไม่มีพิรุธ ทุกปากเป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสอง ได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจเช่นเดียวกับพยานโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งต้องทำงานในหน้าที่ร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจอยู่ จึงไม่น่าจะเป็นการกลั่นแกล้งใส่ร้ายกันโดยไม่มีมูลความจริง และของกลางที่อยู่ในถุงพลาสติก 40,000 เม็ดนั้น โจทก์มีนางสาวพัชราวัล พันธศิลาโรจน์ นักวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้ตรวจพิสูจน์มาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่าเป็นอีเฟดรีนไฮโดรคลอไรด์ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 2 ของกลางมีจำนวนมากถึง 200 ซอง ซองละ 200 เม็ด รวม 40,000 เม็ด เป็นจำนวนมากเกินกว่าที่จะเป็นการซื้อขายกันตามปกติธรรมดาทั่วไป น่าจะต้องมีการติดต่อตกลงกันจนเป็นที่แน่ใจก่อนจะนำมาส่งมอบกัน ข้อนี้นายดาบตำรวจสุภณและจ่าสิบตำรวจกฤษดาพยานโจทก์ยืนยันว่าสายลับเป็นผู้พาพยานโจทก์ทั้งสองไปพบจำเลยที่ 2 เพื่อเจรจาก่อน ในครั้งแรก ๆ จำเลยที่ 2 ยังไม่ยอมขายให้เพราะยังไม่ไว้ใจจนวันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 เชื่อใจแล้วจึงพาพยานโจทก์ทั้งสองไปเจรจาซื้อขายกับนายแมวไม่ทราบนามสกุลถึงบ้านที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี หลายครั้ง โดยจำเลยที่ 2 ไปด้วยทุกครั้ง รถยนต์ที่ใช้ขนอีเฟดรีนของกลางเป็นรถยนต์ของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เป็นคนขับมาเอง ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวข้องเป็นตัวการในการขายวัตถุออกฤทธิ์ครั้งนี้ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและนั่งมาด้วยนั้น แม้ตามคำพยานโจทก์จะไม่เคยพบกับพยานโจทก์ผู้ล่อซื้อทั้งสองปากมาก่อนเพิ่งจะพบกันในวันที่ถูกจับกุม แต่นายดาบตำรวจสุภณพยานโจทก์ยืนยันว่า หลังจากตกลงซื้อขายกับนายแมวเรียบร้อยและพยานกำลังไปรายงานให้ร้อยตำรวจเอกวรพลทราบมีผู้โทรศัพท์เข้ามาที่โทรศัพท์มือถือของพยานหมายเลข 9123906 ถามว่าเงินพร้อมหรือไม่ และแจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ พยานซึ่งแกล้งทำตนเป็นบุคคลธรรมดาพูดกลับไปว่า ถ้าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจะไม่ซื้อขายด้วยเพราะเดี๋ยวจะมาจับพยานผู้โทรศัพท์เข้ามาบอกว่าไม่ต้องกลัวเพราะทำเป็นอาชีพอยู่แล้ว ปรากฏว่าในการตรวจค้นตัวจำเลยทั้งสองหลังจับกุม จำเลยที่ 1 มีโทรศัพท์มือถือหมายเลข 9488663 ติดตัวอยู่เจ้าพนักงานตำรวจจึงยึดเป็นของกลาง และตรวจสอบการใช้โทรศัพท์หมายเลขนี้แล้ว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2538 ก่อนวันจับกุม 1 วัน มีการใช้โทรศัพท์เครื่องนี้ซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของในทะเบียนติดต่อกับโทรศัพท์หมายเลข 9123906 ของนายดาบตำรวจสุภณเป็นเวลา4 นาที ดังปรากฏตามบันทึกการใช้โทรศัพท์มือถือเอกสารหมาย จ.4 น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 โทรศัพท์ถึงนายดาบตำรวจสุภณก่อนวันจับกุม 1 วัน เพื่อติดต่อเกี่ยวกับการซื้อขายอีเฟดรีนของกลางจริง ซึ่งเมื่อฟังประกอบกับที่นายดาบตำรวจสุภณและจ่าสิบตำรวจกฤษดายืนยันว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ลงจากรถยนต์กระบะมาได้ถามนายดาบตำรวจสุภณว่าเงินพร้อมไหม อยู่ที่ไหน ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยพบนายดาบตำรวจสุภณมาก่อน และเป็นคนบอกให้จำเลยที่ 2 หยิบถุงพลาสติกบรรจุอีเฟดรีนของกลางมาส่งให้นายดาบตำรวจสุภณเปิดดูด้วยแล้ว จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นตัวการกระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ในกรณีที่ข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 บัญญัติให้ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรบความผิดนั้น หมายถึงอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดในคดีนี้ก็คือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงหกสิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงหนึ่งล้านสองแสนบาทบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นบทกำหนดโทษ หาใช่เป็นบทเพิ่มโทษไม่ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาความผิดฐานร่วมกันขายอีเฟดรีนและให้เพิ่มโทษเป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 จึงไม่ถูกต้องปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 6 (7ทวิ), 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง,89, 106 ทวิ, 116 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งแต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันขายอีเฟดรีนเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 50 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share