แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 8(11) เป็นบทบัญญัติห้ามนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะได้รับจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดใดแล้วหรือไม่ และห้ามนายทะเบียนโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแม้ว่าเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะยังไม่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดเดียวกันหรือที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้น พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มิได้ให้คำนิยามหรือความหมายของคำว่า “เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป” เอาไว้ด้วย เมื่อประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกตามข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้ารวมทั้งที่เกี่ยวกับการค้าสินค้าปลอมหรือที่เรียกกันโดยย่อว่า ข้อตกลงทริปส์(TRIPsAgreement) อยู่ด้วยซึ่งในข้อ 16(2) แห่งข้อตกลงระหว่างประเทศดังกล่าวให้ใช้บทบัญญัติในข้อ 6 ทวิ แห่งอนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (1967) บังคับแก่เครื่องหมายบริการโดยอนุโลม ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ ให้พิเคราะห์ถึงความเป็นที่รู้จักของเครื่องหมายการค้านั้นในกลุ่มของสาธารณชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเป็นที่รู้จักกันในประเทศภาคีสมาชิกนั้นอันเป็นผลเนื่องมาจากการส่งเสริมเครื่องหมายการค้าดังกล่าวด้วยอนุสัญญากรุงปารีส ข้อ 6 ทวิ (1)ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ประเทศภาคีสมาชิกตกลงไม่รับจดทะเบียนหรือเพิกถอนการจดทะเบียนและห้ามมิให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่เกิดจากการทำซ้ำเลียนหรือแปลเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปในประเทศที่จดทะเบียนหรือใช้เครื่องหมายนั้นจนเกิดความสับสนกับเครื่องหมายดังกล่าวซึ่งเป็นของบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการคุ้มครองตามอนุสัญญานี้ และได้ใช้สำหรับสินค้าที่เหมือนหรือคล้ายกัน ทั้งนี้ไม่ว่าจะโดยอำนาจตามกฎหมายของเจ้าพนักงาน หรือโดยการร้องขอของผู้มีส่วนได้เสียบทบัญญัติดังกล่าวนี้บังคับกับกรณีที่ส่วนอันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายเป็นการทำซ้ำ ซึ่งเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป หรือเป็นการเลียนเครื่องหมายนั้นจนเกิดความสับสนหลงผิดด้วยแม้ว่าประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นประเทศภาคีสมาชิกในอนุสัญญา กรุงปารีสแต่ประเทศไทยก็ได้ให้ความคุ้มครองแก่เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และประเทศไทยเป็นประเทศภาคีสมาชิกประเทศหนึ่งในข้อตกลงทริปส์ ซึ่งโดยหลักของกฎหมายระหว่างประเทศประเทศไทยมีพันธกรณีต้องผูกพันตามข้อตกลงทริปส์อันเป็นความตกลงระหว่างประเทศนั้นด้วย ดังนี้ ความหมายหรือหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดังที่กำหนดไว้ในข้อ 16(2) แห่งข้อตกลงทริปส์ จึงอาจนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการตีความหรือแปลความหมายของคำว่า “เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป” ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8(11) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ 39068 มีลักษณะเป็นรูปโล่มีดาวอยู่ด้านบน ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องหมายคล้ายรูปโล่มีดาวอยู่ด้านบนของสโมสรฟุตบอลเอซีมิลาน แตกต่างกันเพียงขนาดของเครื่องหมายเท่านั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทะเบียนเลขที่ 39067 ที่มีลักษณะคล้ายโล่ซ้อนกัน 2 ชั้น รูปโล่ชั้นในมีรูปถ้วยรางวัลและมีลายเป็นเส้นตรงแนวตั้งจำนวน 4 เส้น มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายรูปโล่ของสโมสรฟุตบอลปาร์มาเอซี แตกต่างกันเพียงเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลดังกล่าวไม่มีรูปถ้วยรางวัล แต่มีเครื่องหมายเป็นรูปกากบาทแทนกับมีคำว่า “PARMAA.C.” อยู่ด้านบน และรูปโล่มิได้มี 2 ชั้น อย่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์เท่านั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทะเบียนเลขที่ 39066 เป็นรูปคล้ายโล่มีตัวอักษรโรมันเด่นชัด 3 ตัว คือ AFA และรูปหรีดใบไม้อยู่ภายในคล้ายกับเครื่องหมายคล้ายรูปโล่ของทีมฟุตบอลชาติอาร์เจนตินาซึ่งมีตัวอักษรโรมันว่าAFAพร้อมพู่ดอกไม้คล้ายหรีดของโจทก์ห้อยลงมา ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทะเบียนเลขที่ 39254 ที่เป็นรูปคนประดิษฐ์ครึ่งตัวคล้ายนักรบอยู่ในวงกลมก็คล้ายกับเครื่องหมายรูปคนประดิษฐ์ครึ่งตัวคล้ายนักรบอยู่ภายในวงกลมของสโมสรฟุตบอลอาแอกซ์อัมสเตอร์ดัม ต่างกันเพียงเครื่องหมายของโจทก์ไม่มีคำว่า”AJAX” อยู่ด้านบนโค้งของวงกลมเยื้องไปทางซ้าย กับไม่มีคำว่า”AMSTERDAM” อยู่บนโค้งของวงกลมด้านล่างเยื้องมาทางขวาอย่างในเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลดังกล่าวเท่านั้น ลักษณะเด่นในเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์เหมือนกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวทุกประการคงแตกต่างกันเฉพาะในส่วนปลีกย่อยเท่านั้น เมื่อนำเครื่องหมายดังกล่าวไปติดกับเสื้อกีฬาหากไม่สังเกตให้ดีและด้วยความระมัดระวังย่อมยากที่จะเห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวได้ เมื่อได้นำเครื่องหมายนั้นไปใช้กับสินค้าเสื้อกีฬา ซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันย่อมอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเสื้อกีฬานั้นได้เครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยและรู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่คนไทยที่สนใจ รัก และชอบกีฬาฟุตบอลย่อมถือได้ว่าเครื่องหมายของทีมฟุตบอลที่มีชื่อเสียงอย่างทีมชาติอาร์เจนตินาทีมสโมสรเอซีมิลานจูเวนตุสปาร์มาเอซีและอาแอกซ์อัมสเตอร์ดัมเป็นที่รู้จักกันในหมู่คนไทยที่สนใจ รัก และชอบกีฬาฟุตบอลอันเป็นกลุ่มของสาธารณชนส่วนที่เกี่ยวข้องตามหลักการพิจารณาว่าเครื่องหมายใดเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ดังที่กำหนดไว้ในข้อ 16(2) แห่งข้อตกลงทริปส์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เมื่อปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนทั้งห้าเครื่องหมายของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของทีมฟุตบอลต่างประเทศ และโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าเสื้อกีฬาเช่นเดียวกันกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแม้เครื่องหมายการค้าของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวจะยังมิได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทยมาก่อนที่โจทก์จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ก็ตามเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ก็ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตรา 8(11) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 กรณีเช่นนี้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้านั้นได้ตามมาตรา 61 และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมมีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวได้ตามมาตรา 65
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 5 คำขอให้โจทก์ คือ เครื่องหมายคล้ายโล่มีรูปดาวอยู่ด้านบนเครื่องหมายรูปดาวคู่ เครื่องหมายคล้ายโล่มีลวดลายกับรูปถ้วยรางวัลอยู่ภายในเครื่องหมายคล้ายโล่มีตัวอักษรโรมัน AFA และรูปหรีดใบไม้อยู่ภายใน และเครื่องหมายรูปคล้ายคนประดิษฐ์ครึ่งตัวอยู่ภายในวงกลมต่อมานายทะเบียนได้ขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งห้าคำขอโดยอ้างว่าเป็นเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของสโมสรฟุตบอลอาชีพหรือทีมชาติฟุตบอลต่างประเทศจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า คณะกรรมการมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียน โจทก์ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเครื่องหมายที่โจทก์ขอจดทะเบียนไม่มีความคล้ายกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศ และโจทก์ไม่มีเจตนาลอกเลียนแบบเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงทุกฤดูการแข่งขัน อีกทั้งไม่ปรากฏว่าเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวจะมีการจดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และให้จำเลยรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าคำขอของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริต เนื่องจากเครื่องหมายของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่คล้ายกับเครื่องหมายทีมฟุตบอลสโมสรในยุโรปที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป และเครื่องหมายของทีมฟุตบอลชาติอาร์เจนตินา จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิด คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยข้อเท็จจริงเหตุผลและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”ที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 8(11) บัญญัติว่า”เครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้รับจดทะเบียน (11) เครื่องหมายที่เหมือนกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป หรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม” นั้นเป็นบทบัญญัติห้ามนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดใดแล้วหรือไม่ และห้ามนายทะเบียนโดยเด็ดขาดมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแม้ว่าเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะยังไม่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดเดียวกันหรือที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือห้ามมิให้บุคคลใดขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปไม่ว่าจะขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดใด แม้เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะยังมิได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดใดก็ตามและไม่อาจขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปสำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดเดียวกันหรือที่มีลักษณะอย่างเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสน หลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้แม้ว่าเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปนั้นจะยังไม่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกหรือชนิดเดียวกันหรือที่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับสินค้าที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันนั้น ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 8(11) ดังกล่าวพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 80 มาตรา 81 และมาตรา 94 ให้นำมาใช้บังคับแก่เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วมโดยอนุโลม ตามลำดับ อีกด้วย อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้คำนิยามหรือความหมายของคำว่า “เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป” เอาไว้ด้วย ในเรื่องนี้ปรากฏว่าประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกในความตกลงระหว่างประเทศคือ ข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้ารวมทั้งที่เกี่ยวกับการค้าสินค้าปลอม (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights, including Trade in Counterfeit Goods) หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า ข้อตกลงทริปส์ (TRIPs Agreement) อยู่ด้วย ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดรายชื่อประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 ซึ่งออกตามความในมาตรา 61 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งในข้อ 16(2) แห่งข้อตกลงระหว่างประเทศดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้พอสรุปความได้ว่าให้ใช้บทบัญญัติในข้อ 6 ทวิ แห่งอนุสัญญากรุงปารีส (1967) บังคับแก่เครื่องหมายบริการโดยอนุโลม ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ ให้พิเคราะห์ถึงความเป็นที่รู้จักของเครื่องหมายการค้านั้นในกลุ่มของสาธารณชนส่วนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งความเป็นที่รู้จักกันในประเทศภาคีสมาชิกนั้นอันเป็นผลเนื่องมาจากการส่งเสริมเครื่องหมายการค้าดังกล่าวด้วย (Article 6 of the Paris Convention (1967) shall apply, mutatis mutandis, to services. In determining whether a trademark is well known, Members shall take account of the knowledge of the relevant sector of the public, including knowledge in the Member concerned which has been obtained as a result of the promotion of the trademark.) และในเชิงอรรถหมายเลข 2 แห่งข้อตกลงทริปส์ได้ให้ความหมายของคำว่า “อนุสัญญากรุงปารีส” ว่าหมายถึงอนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (The Paris Convention for the Protection of Industrial Property) อนุสัญญากรุงปารีส ข้อ 6 ทวิ(1) ได้กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้พอสรุปได้ว่า ประเทศภาคีสมาชิกตกลงไม่รับจดทะเบียนหรือเพิกถอนการจดทะเบียนและห้ามมิให้ใช้เครื่องหมายการค้าที่เกิดจากการทำซ้ำ เลียนหรือแปลเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปในประเทศที่จดทะเบียนหรือใช้เครื่องหมายนั้นจนเกิดความสับสนกับเครื่องหมายดังกล่าวซึ่งเป็นของบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการคุ้มครองตามอนุสัญญานี้ และได้ใช้สำหรับสินค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันทั้งนี้ไม่ว่าจะโดยอำนาจตามกฎหมายของเจ้าพนักงานหรือโดยการร้องขอของผู้มีส่วนได้เสีย บทบัญญัติดังกล่าวนี้ใช้บังคับกับกรณีที่ส่วนอันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายเป็นการทำซ้ำซึ่งเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป หรือเป็นเลียนเครื่องหมายนั้นจนเกิดความสับสนหลงผิดด้วย (The countries of the Union undertake, ex officio if their legislation so permits, or at the request of an interested party, to refuseor to cancel the registration, and to prohibit the use, of a trademarkwhich constitutes a reproduction, an imitation, or a translation liableto create confusion, of a mark considered by the competent authorityof the country of registration or use to be well known in that countryas being already the mark of a person entitled to the benefits of thisConvention and used for identical or similar goods. These provisionsshall also apply when the essential part of the mark constitutes a reproduction of any such well-known mark or an imitation liable tocreate confusion therewith.) แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นประเทศภาคีสมาชิกในอนุสัญญากรุงปารีส แต่ประเทศไทยก็ได้ให้ความคุ้มครองแก่เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 และประเทศไทยเป็นประเทศภาคีสมาชิกประเทศหนึ่งในข้อตกลงทริปส์ ซึ่งโดยหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องผูกพันตามข้อตกลงทริปส์อันเป็นความตกลงระหว่างประเทศนั้นด้วย ดังนี้ความหมายหรือหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดังที่กำหนดไว้ในข้อ 16(2) แห่งข้อตกลงทริปส์จึงอาจนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการตีความหรือแปลความหมายของคำว่า “เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป” ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8(11)แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ได้ จำเลยนำสืบเกี่ยวกับความมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปของเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศที่มีเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ถูกคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนเพราะเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวโดยมีนางปราณี ดิศโรจน์ เจ้าหน้าที่กรมจำเลยผู้เป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ และนายมงคล ศิริจันทร์รัตนา เจ้าหน้าที่กรมจำเลยผู้ตรวจความเหมือนหรือคล้ายของเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์กับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปมาเบิกความประกอบภาพนักฟุตบอลซึ่งมีชื่อเสียงสวมเสื้อที่ลงแข่งขันของทีมฟุตบอลต่างประเทศหมาย ล.6 ถึง ล.10 หรือ ล.18 ถึง ล.22 ในนิตยสารฟุตบอลชื่อ World Soccer (เวิลด์ ซอกเกอร์) และรูปเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศในหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวันตามเอกสารแนบท้ายภาพหมายล.18 ถึง ล.22 ว่านางปราณี เป็นผู้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ตามคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย ล.12 ถึง ล.16 เมื่อวันที่ 1มิถุนายน 2538 เพราะตรวจสอบแล้วไม่พบว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในสารบบจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ต่อมาเมื่อประมาณต้นปี 2539 ได้มีผู้จำหน่ายเสื้อกีฬามาร้องเรียนที่กรมจำเลยว่าโจทก์ได้เรียกร้องเงินจากพวกตนโดยอ้างว่าพวกตนได้นำเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วของโจทก์ไปใช้ขอให้กรมจำเลยตรวจสอบว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ตามหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมเอกสารหมาย ล.17 พร้อมกับมอบนิตยสารฟุตบอลเวิลด์ ซอกเกอร์ ให้แก่กรมจำเลย จำเลยได้สั่งให้นายมงคลทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว นายมงคลได้ติดต่อกับผู้สื่อข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวันและนำนิตยสารฟุตบอลเวิลด์ ซอกเกอร์ ไปตรวจสอบกับหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวันซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีผู้สื่อข่าวที่มีความเชี่ยวชาญด้านกีฬาฟุตบอลต่างประเทศ จากการตรวจสอบพบว่าเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 25 รายการสินค้า เสื้อกีฬา เครื่องหมายการค้า ทะเบียนเลขที่ 39068 ตามคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย ล.12 คือเครื่องหมายคล้ายกับเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลเอซี มิลาน (AC MILAN) ในประเทศอิตาลีตามภาพหมาย ล.6 หรือ ล.18 เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ 39240 ตามคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย ล.13 คือ เครื่องหมาย ตามภาพหมาย ล.7 หรือ ล.19 เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ 39067 ตามคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย ล.14 คือเครื่องหมายคล้ายกับเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลปาร์มา เอซี (PARMA AC) ในประเทศอิตาลี ตามภาพหมาย ล.8 หรือ ล.20 และตามภาพในหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวันเอกสารแนบท้ายหมาย ล.18 ถึง ล.22 เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ 39066 ตามคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย ล.15 คือ เครื่องหมายคล้ายกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลชาติอาร์เจนตินา ตามภาพหมาย ล.9 หรือ ล.21 และภาพในหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวันเอกสารแนบท้ายภาพหมาย ล.18 ถึง ล.22 และเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ 39254 ตามคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย ล.16 คือเครื่องหมายคล้ายกับเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลอาแอกซ์ อัมสเตอร์ดัมของประเทศเนเธอร์แลนด์ ตามภาพหมาย ล.10 หรือล.22 และภาพในหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวันเอกสารแนบท้ายภาพหมาย ล.18 ถึง ล.22 นายมงคลได้ทำความเห็นเสนอไปยังคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าเครื่องหมายการค้าทั้งห้าที่ได้รับการจดทะเบียนของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าว สมควรเพิกถอนการจดทะเบียนนั้น คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าทั้งห้าที่ได้รับการจดทะเบียนของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าว ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ ตามคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 13/2539 ถึงที่ 17/2539 เอกสารหมาย ล.24 ถึง ล.28 เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.12 มีลักษณะเป็นรูปโล่มีดาวอยู่ด้านบนในลักษณะเดียวกันกับเครื่องหมายคล้ายรูปโล่มีดาวอยู่ด้านบนของสโมสรฟุตบอลเอซี มิลานแตกต่างกันเพียงขนาดของเครื่องหมายเท่านั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.14 ที่มีลักษณะคล้ายโล่ซ้อนกัน 2 ชั้น รูปโล่ชั้นในมีรูปถ้วยรางวัลและมีลายเป็นเส้นตรงแนวตั้งจำนวน 4 เส้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายรูปโล่ของสโมสรฟุตบอลปาร์มา เอซี แตกต่างกันเพียงเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลดังกล่าวไม่มีรูปถ้วยรางวัล แต่มีเครื่องหมายเป็นรูปกากบาทแทนกับมีคำว่า “PARMA A.C.” อยู่ด้านบน และรูปโล่มิได้มี 2 ชั้น อย่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์เท่านั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.15 เป็นรูปคล้ายโล่มีตัวอักษรโรมันเด่นชัด 3 ตัว คือ AFA และรูปหรีดใบไม้อยู่ภายในซึ่งคล้ายกับเครื่องหมายรูปโล่ของทีมฟุตบอลชาติอาร์เจนตินา ซึ่งมีตัวอักษรโรมันว่า AFA พร้อมพู่ดอกไม้คล้ายหรีดของโจทก์ห้อยลงมาในลักษณะเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมายล.16 ที่เป็นรูปคนประดิษฐ์ครึ่งตัวคล้ายนักรบอยู่ในวงกลม ซึ่งก็คล้ายกับเครื่องหมายรูปคนประดิษฐ์ครึ่งตัวคล้ายนักรบอยู่ภายในวงกลมของสโมสรฟุตบอลอาแอกซ์ อัมสเตอร์ดัม ต่างกันเพียงเครื่องหมายของโจทก์ไม่มีคำว่า “AJAX” อยู่ด้านบนโค้งของวงกลมเยื้องไปทางซ้ายกับไม่มีคำว่า “AMSTERDAM” อยู่บนโค้งของวงกลมด้านล่างเยื้องมาทางขวาอย่างในเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลดังกล่าวเท่านั้นลักษณะเด่นในเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์เหมือนกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวทุกประการ คงแตกต่างกันเฉพาะในส่วนปลีกย่อยเท่านั้นเมื่อนำเครื่องหมายดังกล่าวไปติดกับเสื้อกีฬา หากไม่สังเกตให้ดีและด้วยความระมัดระวังย่อมยากที่จะเห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวได้ เมื่อได้นำเครื่องหมายนั้นไปใช้กับสินค้าเสื้อกีฬา ซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันย่อมอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเสื้อกีฬานั้นได้ และจำเลยได้นำสืบถึงหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวันว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีผู้สื่อข่าวที่มีความเชี่ยวชาญด้านกีฬาฟุตบอลต่างประเทศซึ่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ติดต่อกับผู้สื่อข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวด้วยและได้ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์นั้น ซึ่งมีรูปเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลต่างประเทศที่ใช้กับเสื้อนักฟุตบอลต่างประเทศที่ใช้ลงทำการแข่งขันด้วย แสดงว่าเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยและรู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่คนไทยที่สนใจ รัก และชอบกีฬาฟุตบอล ย่อมถือได้ว่าเครื่องหมายของทีมฟุตบอลที่มีชื่อเสียงอย่างทีมชาติอาร์เจนตินา ทีมสโมสรเอซี มิลาน จูเวนตุสปาร์มา เอซี และอาแอกซ์ อัมสเตอร์ดัม เป็นที่รู้จักกันในหมู่คนไทยที่สนใจ รัก และชอบกีฬาฟุตบอลอันเป็นกลุ่มของสาธารณชนส่วนที่เกี่ยวข้องตามหลักการพิจารณาว่าเครื่องหมายใดเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ดังที่กำหนดไว้ในข้อ 16(2) แห่งข้อตกลงทริปส์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้วโจทก์คงอ้างแต่เพียงว่าโจทก์ไม่มีเจตนาลอกเลียนแบบหรือนำเครื่องหมายของสโมสรฟุตบอลอาชีพหรือทีมชาติฟุตบอลของต่างประเทศที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาใช้และเครื่องหมายของทีมฟุตบอลสโมสรต่างประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกฤดูกาลเท่านั้น หาได้อ้างและนำสืบให้เห็นว่าโจทก์คิดเครื่องหมายการค้าทั้งห้าที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนมาได้อย่างไรไม่เมื่อปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนทั้งห้าเครื่องหมายของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของทีมฟุตบอลต่างประเทศ และโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าเสื้อกีฬาเช่นเดียวกันกับเครื่องหมายของทีมฟุตบอลต่างประเทศจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าแม้เครื่องหมายการค้าของทีมฟุตบอลต่างประเทศดังกล่าวจะยังมิได้รับการจดทะเบียนในประเทศไทยมาก่อนที่โจทก์จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ก็ตามเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ก็ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตรา 8(11) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 กรณีเช่นนี้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าอาจร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้านั้นได้ตามมาตรา 61 และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมมีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวได้ตามมาตรา 65 คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งห้าของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน