คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4133/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรมธรรม์ประกันภัยระบุว่า กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอาประกันภัยโอนรถยนต์ให้บุคคลอื่น จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยรถยนต์กับจำเลยที่ 3 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัท ง. ผู้ให้เช่าซื้อ บริษัทดังกล่าวจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ การที่จำเลยที่ 1 เพียงโอนสิทธิการเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แก่ ส.กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังคงเป็นของบริษัทง. ผู้ให้เช่าซื้อ กรณีมิใช่เป็นการที่ผู้เอาประกันภัยโอนรถยนต์ที่เอาประกันภัยให้บุคคลอื่น กรมธรรม์ประกันภัย จึงไม่สิ้นผลบังคับ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้กับจำเลยที่ 3 ส.ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยส. เป็นหุ้นส่วนประกอบการค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 ส. และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและใช้รถยนต์ และ ส. เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของ ส. และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยแต่คำฟ้องมิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดเพราะเหตุที่ ส. ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยโดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัย คำฟ้องของโจทก์จึงอ้างเหตุที่จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดด้วยเท่านั้น ดังนี้เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 ก็ย่อมไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 1ผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่โจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถไฟดีเซลราง ขบวนที่ 248 ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหุ้นส่วนกับนายสำรวย คุ้มแสงขาว โดยประกอบกิจการค้าร่วมกัน จำเลยที่ 1 และนายสำรวยเป็นผู้ครอบครองและใช้รถยนต์หมายเลขทะเบียน บ-6918 ลพบุรี ในการประกอบกิจการค้า โดยจำเลยที่ 1ได้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับประกันภัยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2535 เวลา 7.55 นาฬิกา ขณะที่นายสำรวยขับรถยนต์คันดังกล่าวไปในกิจการค้าร่วมกันของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายสำรวยไปตามถนนสายบำเหน็จณรงค์-จตุรัส เมื่อถึงหลักกิโลเมตรที่ 299/3-4 ซึ่งเป็นทางข้ามทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณทางแยกสายชุมทางแก่งคอย-ชุมทางบัวใหญ่ นายสำรวยขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังขับรถขึ้นมาบนทางรถไฟตัดหน้ารถไฟขบวนที่ 248 ของโจทก์ในระยะกระชั้นชิด เป็นเหตุให้รถโบกี้กำลังดีเซลรางมีห้องขับ เลขที่ 1012 (กซข) รถจักรดีเซลนำขบวนของโจทก์ชนรถยนต์คันดังกล่าวกระเด็นตกไปข้างทางเป็นเหตุให้นายสำรวยถึงแก่ความตาย และรถดีเซลรางเลขที่ กซข 1012 ของโจทก์ได้รับความเสียหายหลายรายการ คิดเป็นค่าซ่อม 62,551.98 บาท ค่าลากจูงขบวนรถไฟของโจทก์ 4,477 บาท รวมค่าเสียหาย 67,028.98 บาท เหตุความเสียหายเกิดขึ้นเพราะการทำละเมิดของนายสำรวยซึ่งเป็นหุ้นส่วนและตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันดังกล่าวต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งสามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากค่าเสียดังกล่าวนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 5,027.17 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 72,056.15 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 72,056.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 67,028.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนประกอบการค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 และนายสำรวย คุ้มแสงขาว นายสำรวยเป็นเพียงสามีที่มิได้จดทะเบียนสมรสของจำเลยที่ 2 นายสำรวยจึงไม่ได้เป็นตัวแทนหรือเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 2 และเหตุที่เกิดขึ้นนายสำรวยมิได้เป็นฝ่ายขับรถยนต์โดยประมาท แต่เกิดจากความประมาทของฝ่ายโจทก์เองที่ไม่ทำเครื่องกั้นทางรถไฟและไม่ให้สัญญาณในขณะที่รถไฟแล่นผ่านทางทั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป ความจริงโจทก์เสียหายไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บ-6918 ลพบุรี ไว้จากจำเลยที่ 1 โดยมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปใช้ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะนายสำรวย คุ้มแสงขาว ผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้เป็นหุ้นส่วนหรือเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 และก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายสำรวยโดยความยินยอมของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันดังกล่าวอีกต่อไป สัญญาประกันภัยที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 1 จึงสิ้นผลบังคับไปทันทีในวันที่ 22 เมษายน 2535 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายสำรวยตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย หมวดที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป ข้อที่ 1.13 ทั้งเหตุที่รถไฟกับรถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างของโจทก์เอง จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และโจทก์เสียหายไม่เกิน 20,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าสินไหมทดแทน 67,028.98 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2535 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เดิมจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ-6918 ลพบุรี จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด และทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ 3ระบุชื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด เป็นผู้รับประโยชน์ มีระยะเวลาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2534 สิ้นสุดวันที่ 21 ตุลาคม 2535 ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายสำรวย คุ้มแสงขาว โดยได้รับความยินยอมจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด หลังจากนั้นวันที่ 7 ตุลาคม 2535 เวลา 7.45 นาฬิกา นายสำรวยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยขับรถยนต์คันดังกล่าวด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ขบวนรถไฟของโจทก์ชนกับรถยนต์คันดังกล่าวทำให้รถไฟของโจทก์ได้รับความเสียหายและนายสำรวยถึงแก่ความตายขณะที่เกิดเหตุละเมิดดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนประกอบการค้าร่วมกับนายสำรวยและไม่ได้เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่ ปัญหานี้ที่โจทก์ฎีกาประการแรกว่าแม้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุและเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 แล้วต่อมาได้โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่นายสำรวย คุ้มแสงขาว ไป ก็ไม่ทำให้กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับ ตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 1.13 นั้น เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 1.13 ระบุว่า กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอาประกันภัยโอนรถยนต์ให้บุคคลอื่น แต่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยรถยนต์กับจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถยนต์นั้นจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อ บริษัทดังกล่าวจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ จำเลยที่ 1 เพียงโอนสิทธิการเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แก่นายสำรวย เท่านั้นกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังคงเป็นของบริษัทผู้ให้เช่าซื้อดังกล่าว มิได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นการที่ผู้เอาประกันภัยโอนรถยนต์ที่เอาประกันภัยให้บุคคลอื่น ตามกรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่สิ้นผลบังคับ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ากรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2.8 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์เพราะนายสำรวยขับรถยนต์คันเกิดเหตุ โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยและกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2.8 ระบุว่าจำเลยที่ 3 จะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากที่โจทก์ฟ้องแต่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ เพราะเห็นว่าจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับอยู่แล้วซึ่งไม่ถูกต้องดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ไปโดยไม่ต้องย้อนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ ปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้กับจำเลยที่ 3 นายสำรวยผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยนายสำรวยเป็นหุ้นส่วนประกอบการค้าร่วมกับจำเลยที่ 1 นายสำรวยและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองและใช้รถยนต์ และนายสำรวยเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของนายสำรวยและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุดังกล่าวต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงโดยชัดแจ้งถึงเหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์นั้นจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดในเหตุละเมิดตามฟ้องด้วย โดยตามคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดเพราะเหตุที่นายสำรวยขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้นั้น โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.8 แต่อย่างใดเลย เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์กล่าวอ้างเหตุที่จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดด้วยเท่านั้น ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนก็ย่อมไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดแก่โจทก์ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นกลับวินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ โดยเห็นว่านายสำรวยขับรถยนต์คันเกิดเหตุโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.8 ดังกล่าวข้างต้น ทั้งที่โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างตามคำฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดโดยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการพิพากษาในเหตุนอกเหนือจากที่กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และฎีกาของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.8 จึงถือเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ อย่างไรก็ตามจากเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share