คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6095/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา177 วรรคสาม การที่จำเลยจะฟ้องแย้งเข้ามาในคดีที่ถูกฟ้องนั้นเรื่องที่ฟ้องแย้งจะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะพิจารณารวมกันได้เพื่อจะได้พิจารณาไปเสียคราวเดียวกัน โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามกำหนดในสัญญา โดยไม่มีเหตุอันสมควร ขอให้จำเลยชำระค่าจ้างที่ค้างพร้อมด้วยดอกเบี้ยและเงินเพิ่มอีกร้อยละสิบห้าทุกระยะเจ็ดวันตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานจำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์จริง และฟ้องแย้งว่าโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยโดยไม่ทำหน้าที่ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา เป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกลูกค้าปรับและขาดกำไรไปอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาทางด้านการเงินอันเป็นเหตุหนึ่งที่จำเลยไม่อาจจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานของจำเลยได้ขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาเช่นนี้ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาทั้งตามคำฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยนั้นมาจากสิทธิและหน้าที่ที่มีต่อกันตามสัญญาจ้างแรงงาน และข้ออ้างตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ว่าโจทก์ทำผิดสัญญาในการทำหน้าที่ที่กำหนดไว้ต่อกันทำให้จำเลยเสียหายจนไม่อาจจ่ายค่าจ้างได้ตามกำหนดเวลาก็เป็นข้ออ้างที่เป็นข้อเท็จจริงอันเดียวกันกับที่จำเลยยกขึ้นมาเป็นข้อปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ในข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามกำหนดเวลาโดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นคำฟ้องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมที่สามารถพิจารณารวมกันไปได้ศาลชอบที่จะรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาดำเนินการต่อไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เป็นวิศวกรควบคุมงานมีกำหนดระยะเวลาในการจ้าง 18 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1สิงหาคม 2532 ถึงวันที่ 30 มกราคม 2534 จำเลยไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2533 เป็นต้นมาจนถึงวันฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างพร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ไม่ยอมตอกบัตรลงเวลาทำงาน จำเลยตักเตือนแล้วแต่โจทก์เพิกเฉย และตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2533 โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไม่มาทำงาน การที่โจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างทำให้เครื่องจักรที่โจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแลไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งให้แก่ลูกค้าได้ทันตามกำหนดเวลา ทำให้จำเลยต้องถูกลูกค้าปรับและขาดกำไรคิดเป็นค่าเสียหายไม่น้อยกว่าเดือนละ 200,000 บาท เป็นเหตุให้จำเลยประสบปัญหาทางด้านการเงิน และเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้จำเลยไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานได้ มิใช่เป็นการจงใจไม่จ่ายค่าจ้างโดยปราศจากเหตุผล ขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำให้การจำเลย ส่วนฟ้องแย้งนั้นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมจึงไม่รับ
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก” ตามบทบัญญัติดังกล่าวการที่จำเลยจะฟ้องแย้งเข้ามาในคดีที่ถูกฟ้องนั้น เรื่องที่ฟ้องแย้งจะต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะพิจารณารวมกันได้ เพื่อจะได้พิจารณาไปเสียคราวเดียวกัน กรณีตามฟ้องของโจทก์นั้น โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามกำหนดในสัญญา โดยไม่มีเหตุอันสมควร ขอให้จำเลยชำระค่าจ้างที่ค้างพร้อมด้วยดอกเบี้ยและเงินเพิ่มอีกร้อยละสิบห้าทุกระยะเจ็ดวันตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานจำเลยให้การว่าได้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์จริง และข้อกล่าวอ้างในฟ้องแย้งของจำเลยนั้นจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยโดยไม่ทำหน้าที่ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาเป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกลูกค้าปรับและขาดกำไรไปอย่างมากทำให้เกิดปัญหาทางด้านการเงินอันเป็นเหตุหนึ่งที่จำเลยไม่อาจจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานของจำเลยได้ ขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญา เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยแล้วเห็นได้ว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาทั้งตามคำฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยนั้นมาจากสิทธิและหน้าที่ที่มีต่อกันตามสัญญาจ้างแรงงานนั่นเอง และข้ออ้างตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ว่าโจทก์ทำผิดสัญญาในการทำหน้าที่ที่กำหนดไว้ต่อกันทำให้จำเลยเสียหายจนไม่อาจจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามกำหนดเวลานั้น ก็เป็นข้ออ้างที่เป็นข้อเท็จจริงอันเดียวกันกับที่จำเลยยกขึ้นมาเป็นข้อปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ในข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลย-ไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามกำหนดเวลา โดยปราศจากเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ดังนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ฟ้องแย้งของจำเลยนั้นมิใช่คำฟ้องเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม แต่เป็นคำฟ้องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมที่สามารถพิจารณารวมกันไปได้
พิพากษากลับเป็นว่า ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาดำเนินการต่อไป.

Share