คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5595/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้สลักหลังเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือย่อมอยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ตามเช็ค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989เมื่อได้ชำระหนี้แก่ผู้ทรงไปแล้วย่อมมีสิทธิไล่เบี้ย เอาจากผู้สั่งจ่ายและเข้ารับช่วงสิทธิของผู้ทรงที่มีเหนือผู้สั่งจ่ายด้วยกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องฟ้องร้องภายในกำหนดอายุความเท่าใด สิทธิเรียกร้องของผู้รับช่วงสิทธิจากผู้ทรงต่อผู้สั่งจ่าย จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 ผู้สลักหลังเช็คซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือมิใช่ผู้สลักหลังตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1003 จึงไม่นำอายุความ 6 เดือนตามมาตรานี้มาใช้บังคับ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาบางขุนเทียน เลขที่ 0726701 ลงวันที่ 9 เมษายน 2527สั่งจ่ายเงินสดให้ผู้ถือจำนวน 28,000 บาท เช็คดังกล่าวมีจำเลยทที่ 2เป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเงินประทับตราสำคัญ ห้างจำเลยที่ 1นำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ก่อนที่เช็คจะถึงกำหนดโจทก์ได้สลักหลังโอนเช็คดังกล่าวชำระหนี้ให้บุคคลอื่นไป ต่อมาเช็คดังกล่าวถูกธนาคารปธิเสธการจ่ายเงิน ผู้ทรงจึงนำเช็คมาทวงถามโจทก์ โจทก์ชำระเงินตามเช็คให้ผู็ทรงไปแล้วรับโอนมอบเช็คกลับคืนมา โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,100 บาท
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ผู้สลักหลังเช็คใช้สิทธิไล่เบี้ยเรียกเงินตามเช็คเกิน 6 เดือน ขาดอายุความแล้วจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คตามฟ้องชำระหนี้ค่าเครื่องไฮดรอลิก ยกกระบะรถบรรทุกที่ซื้อไปจากโจทก์ ต่อมาปรากฏว่าเครื่องไฮดรอลิกดังกล่าวชำรุดใช้การไม่ได้และยังทำให้รถบรรทุกของจำเลยที่ 1 เสียหายอีกด้วยจึงฟ้องแย้งบอกล้างโมฆียะกรรมสัญญาซื้อขายอันเกิดจากกลฉ้อฉลของโจทก์ให้โจทก์มารับเครื่องไฮดรอลิกดังกล่าวคืนไป และขอให้ศาลพิพากษาฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย 34,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2527 ไปถึงวันฟ้องแย้งเป็นเงิน 2,250 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลยทั้งสอง 36,450 บาท ให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 34,200 บาท นับแต่วันที่ฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระให้กับจำเลยทั้งสองเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เครื่องไฮดรอลิกของโจทก์ไม่ชำรุดบกพร่องความเสียหายเกิดจากการใช้งานหนักเกินกำลังของฝ่ายจำเลยเองกับจำเลยทั้งสองไม่เสียหายดังฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็ค28,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 เมษายน 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,100 บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง มิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับฟ้องแย้ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาในชั้นฎีกาที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์หรือผู้ถือ โจทก์สลักหลังเช็คนำไปขายลดให้แก่บุคคลภายนอก ผู้รับซื้อเช็คไว้ย่อมเป็นผู้ทรงเช็ค การสลักหลังของโจทก์จึงเป็นเพียงประกันหนี้ตามเช็คพิพาทที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 ประกอบด้วยมาตรา 989โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ตามเช็คของจำเลย เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยไปแล้วย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอกจากจำเลย และเข้ารับช่วงสิทธิของผู้ทรงเช็คบรรดามีเหนือจำเลยด้วย กรณีเช่นนี้ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ผู้รับช่วงสิทธิจากผู้ทรงเช็คจะต้องฟ้องร้องภายในกำหนดเวลาเท่าใด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิมาจากผู้ทรงจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 หาใช่อายุความ 6 เดือนตามมาตรา 1003 ดังที่จำเลยแก้ฎีกาไม่ เพราะโจทก์มิใช่ผู้สลักหลังตามความหมายของมาตราดังกล่าว คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์หรือไม่นั้น โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้สั่งจ่าย็คพิพาทชำระหนี้ค่าซื้อเครื่องยกกระบะไฮดรอลิกสำหรับใช้กับรถบรรทุกสิบล้อและจำเลยได้รับเครื่องยกกระบะดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดชำระเงิน ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยมีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน จำเลยนำสืบว่า ที่จำเลยสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็ค เพราะเครื่องยกกระบะชำรุดบกพร่องและจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว โดยจำเลยอ้างว่าเครื่องยกกระบะชำรุดเป็นเหตุให้รถบรรทุกของจำเลยเสียหายต้องซ่อมแซมรถบรรทุกและสายทางเดินน้ำมันไฮดรอลิกเป็นเงิน 19,200 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.1แต่นายปริยศ วัชรวันนานนท์ รองผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 เบิกความว่าเพิ่งไปขอใบเสร็จฟ้องแย้ง และนายจตุรงค์ ฤกษ์สุดแสน กรรมการผู้จัดการของบริษัทสยามรถพ่วง จำกัด ก็เบิกความว่าทางจำเลยไปขอร้องให้ออกใบเสร็จดังกล่าวให้เมื่อโจทก์ฟ้องคดีแล้วเห็นว่า ใบเสร็จเอกสารหมาย ล.1 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2528 แต่โจทก์จำเลยซื้อขายเครื่องยกกระบะกันวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2527 นายปริยศและนายไพศาลพิศาลคุณากิจ พยานจำเลยต่างก็เบิกความว่า เมื่อติดตั้งเครื่องยกกระบะแล้วใช้ได้ 10 วัน ก็เกิดชำรุดบกพร่อง ถ้าเช่นนั้นจำเลยก็น่าจะส่งไปซ่อมเสียก่อนนานแล้ว ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่น่าเชื่อ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าได้บอกเลิกสัญญาแล้วนั้น จำเลยไม่มีหลักฐานมาแสดงคงนำสืบลอย ๆ ว่าได้โทรศัพท์แจ้งให้โจทก์มารับเครื่องยกกระบะคืนไปเท่านั้น เห็นว่า ขณะฟ้องคดีเครื่องยกกระบะยังอยู่ที่จำเลย นับแต่เวลาที่ซื้อขายกันจำเลยครอบครองเครื่องยกกระบะไว้นานประมาณ 1 ปีเศษเมื่อดจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็คพิพาทที่ออกชำระหนี้ค่าซื้อเครื่องยกกระบะเป็นคดีนี้ จำเลยจึงยกขึ้นอ้างว่าได้บอกเลิกสัญญาแล้ว เช่นนี้พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีเหตุผลน่าเชื่อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยยังมีผลผูกพันอยู่ และจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระราคา เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการใช้เงิน จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คให้โจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share