แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องกองมรดกของผู้ตายโดย นายส.นายอ.นายช.ผู้จัดการมรดกและบรรยายฟ้องว่า ศาลแต่งตั้งให้บุคคลทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโจทก์ทวงถามให้แบ่งมรดกของผู้ตายให้แก่โจทก์แต่จำเลยไม่แบ่งทรัพย์มรดกให้ ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องบุคคลทั้งสามดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดก ศาลย่อมบังคับให้ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งจะต้องฟ้องเรียกเสียภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1733 วรรคสอง การที่จำเลยระบุว่าโจทก์ฟ้องคดีเกินหนึ่งปีคดีจึงขาดอายุความนั้น ถือได้ว่าอายุความที่จำเลยอ้างถึงคืออายุความตา:มมาตรา 1755 มิใช่มาตรา 1733 วรรคสอง จึงมีประเด็นวินิจฉัยเฉพาะอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 1754 เพียงอย่างเดียวที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 1733วรรคสอง และพิพากษายกฟ้องของโจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่:ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 4291/2529) โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จำเลยตกอยู่ในฐานะผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททั้งหลายเท่านั้น จำเลยไม่อาจจะยกอายุความมรดกตามมาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ผู้ตายและ ล. เป็นสามีภริยากันก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิมใช้บังคับ โดยไม่มีสินเดิมทั้งสองฝ่าย ผู้ตายจึงมีส่วนในสินสมรสสองในสามส่วนซึ่งตกเป็นมรดกแก่ทายาท โจทก์เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้ทายาทอื่นโดยไม่แบ่งปันให้โจทก์ตามส่วน เป็นการแบ่งปันที่มิชอบด้วยกฎหมายโจทก์ชอบที่จะขอให้แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายใหม่ได้ จำเลยจะอ้างว่าได้แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้ทายาทอื่น………………… …………………………………………….จนหมดสิ้นแล้ว ไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดที่จะแบ่งปันให้โจทก์อีกหาได้ไม่ วิธีการดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกตามฟ้องกันอย่างไรเป็นเรื่องของการบังคับคดี ไม่จำเป็นต้องกำหนดไว้ในคำพิพากษา.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเกตุ และนางละมุน ฉันทวานิช นายเกตุถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน2516 มีทรัพย์มรดกเท่าที่ทราบตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องรวมเป็นเงิน15,000,000 บาท ต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งนายสมเกียรติ นายองอาจและนายสมชาย ฉันทวานิช เป็นผู้จัดการมรดกของนายเกตุ โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกจากกองมรดกของนายเกตุ เป็นจำนวนหนึ่งในสิบห้าส่วนของทรัพย์มรดกทั้งหมดเป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ทวงถามแต่จำเลยไม่แบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมจำนวนหนึ่งในสิบห้าส่วนในอสังหาริมทรัพย์ของกรงมรดกทั้งหมด และไปยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดแบ่งแยกออกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ ส่วนทรัพย์มรดกที่เป็นสังหาริมทรัพย์และเงินสดให้จำเลยแบ่งเฉพาะส่วนของโจทก์มอบให้แก่โจทก์ หากทรัพย์มรดกใดไม่สามารถแบ่งได้หรือไม่เป็นที่ยุติ ขอให้นำออกขายทอดตลาดนำมาแบ่งให้โจทก์หนึ่งในสิบห้าส่วน โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเอง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาในการแบ่งทรัพย์มรดกจากกองมรดก
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่บุตรของนายเกตุ และนางละมุนฉันทวานิช จึงไม่ใช่ทายาท ไม่มีสิทธิขอแบ่งมรดก ทรัพย์มรดกแบ่งปันไปหมดแล้ว กองมรดกนายเกตุ มิใช่นิติบุคคล โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ทราบถึงการแบ่งปันทรัพย์มรดกมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์มิได้ใช้สิทธิของทายาทฟ้องเรียกทรัพย์มรดก คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนายเกตุ ฉันทวานิชเจ้ามรดก ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ฟ้องกองมรดกของนายเกตุ เจ้ามรดกซึ่งมิใช่บุคคลหรือนิติบุคคล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องกองมรดกของนายเกตุ โดยนายสมเกียรติ นายองอาจ นายสมชายผู้จัดการมรดก และบรรยายฟ้องว่า ศาลแพ่งแต่งตั้งให้บุคคลทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนายเกตุ โจทก์ทวงถามให้แบ่งมรดกของนายเกตุให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่แบ่งทรัพย์มรดกให้ เห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องบุคคลทั้งสามดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดกนั่นเอง ซึ่งศาลย่อมจะบังคับให้ได้ ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายและโจทก์มีอำนาจฟ้องแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 และโจทก์ฎีกาว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้นศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์และจำเลยรวมกันไป พิเคราะห์คำให้การจำเลยแล้ว จำเลยให้การว่าโจทก์ทราบถึงการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายเกตุ แล้วโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิตามที่อ้างว่าเป็นทายาทฟ้องเรียกทรัพย์มรดกแต่อย่างใด จนเวลาล่วงเลยมาเกินกว่า 1 ปี และยังมีการพิพาทเป็นคดีอื่นกันเรื่อยมาจนถึงคดีนี้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความศาลฎีกาเห็นว่าจากคำให้การของจำเลยดังกล่าว มิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งจะต้องฟ้องเรียกเสียภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง การที่จำเลยระบุว่าโจทก์ฟ้องคดีเกินหนึ่งปีคดีจึงขาดอายุความนั้น ถือได้ว่าอายุความที่จำเลยอ้างถึงคืออายุความตามมาตรา 1754 มิใช่มาตรา1733 วรรคสอง จึงมีประเด็นวินิจฉัยเฉพาะอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 1754 เพียงอย่างเดียว นัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2491/2529ระหว่างองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ โจทก์ นายสุรเดช บัวชุมจำเลย และคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายเกตุ ผู้ตาย จำเลยตกอยู่ในฐานะผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททั้งหลายเท่านั้น จำเลยไม่อาจจะยกอายุความตามมาตรานี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสองและพิพากษายกฟ้องของโจทก์จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีส่วนในทรัพย์มรดกของนายเกตุ อยู่เท่าใด ได้ความว่านายเกตุ มีภริยาชอบด้วยกฎหมาย 1 คน คือนางละมุนฉันทวานิช มารดาโจทก์และจำเลยทั้งสามและบุตรที่เกิดจากนางละมุน และนางศรีนวล ฉันทวานิช 9 คน นายเกตุและนางละมุนเป็นสามีภริยากันก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 เดิมใช้บังคับ โดยไม่ปรากฏว่าฝ่ายใดมีสินเดิมหรือไม่ จึงต้องฟังว่าไม่มีสินเดิมทั้งสองฝ่าย และทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องต้องถือว่าเป็นสินสมรสของทั้งสองฝ่าย โดยนายเกตุ สามีมีส่วนแบ่งสองในสามหรือเท่ากับสิบในสิบห้าส่วนหนึ่งซึ่งตกเป็นมรดกแก่ทายาทคือ บุตรทั้งเก้าและนางละมุน ภริยาได้คนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน โจทก์จึงมีส่วนในทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหนึ่งในสิบห้าส่วน
ปัญหาสุดท้าย โจทก์มีสิทธิขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายเกตุตามคำขอท้ายฟ้องหรือไม่ จำเลยอ้างว่าได้แบ่งปันทรัพย์มรดกของนายเกตุให้ทายาทอื่นจนหมดสิ้นแล้ว ไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดที่จะแบ่งปันให้ทายาทได้อีก ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อฟังได้แล้วว่าโจทก์เป็นทายาทและมีสิทธิ ได้รับมรดกของนายเกตุ หนึ่งในสิบห้าส่วนของบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเกตุ แบ่งปันทรัพย์มรดกของนายเกตุ ให้ทายาทอื่นโดยไม่แบ่งปันให้โจทก์ตามส่วนจึงเป็นการแบ่งปันที่มิชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ชอบที่จะขอให้แบ่งปันทรัพย์มรดกของนายเกตุ ใหม่ได้ และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเกตุ ยังมีหน้าที่จะต้องแบ่งบัน ทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ตามส่วน แต่ที่โจทก์ขอให้จำเลยยื่นคำร้องขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานลงชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมหนึ่งในสิบห้าส่วนของอสังหาริมทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้อง และแบ่งแยกออกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ให้แก่โจทก์นั้น เท่ากับเป็นการขอแบ่งทรัพย์มรดกนั่นเอง จะดำเนินการแบ่งกันอย่างไรเป็นเรื่องของการบังคับคดีไม่จำเป็นต้องกำหนดไว้ในคำพิพากษา
พิพากษากลับ ให้นายสมเกียรติ นายองอาจ และนายสมชาย ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเกตุ จำเลย แบ่งทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องให้แก่โจทก์หนึ่งในสิบห้าส่วน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก.