แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมีระเบียบเกี่ยวกับเงินประกันความว่า “หากมีความเสียหายเกิดขึ้นอันอยู่ในความรับผิดชอบตามหน้าที่ของพนักงาน ไม่ว่าจะโดยเจตนา ไม่เจตนา ประมาทเลินเล่อ อันเป็นความผิดจากการกระทำของพนักงาน โรงพยาบาลมีสิทธิหักค่าเสียหายออกจากเงินประกันได้ทันทีตามความเป็นจริง และพนักงานต้องไม่กระทำความผิดสถานร้ายแรงตามกฎหมาย และถูกเลิกจ้างตามความผิดนั้นโรงพยาบาลจะคืนเงินประกันให้”การที่โจทก์ขาดงานอันเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นเวลาติดต่อกันถึงห้าวัน ย่อมเป็นการเสียหายแก่จำเลยอยู่ในตัวและถือได้ว่าเป็นการร้ายแรง เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุนี้จึงเข้าเกณฑ์ตามระเบียบดังกล่าว ซึ่งจำเลยมีสิทธิหักเงินประกันได้ ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทและบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า สำหรับค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้โดยชัดแจ้งจึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าการกำหนดประเด็นไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำหน้าที่พนักงานซักรีดได้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 90 บาท วันที่ 30 พฤษภาคม 2533จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินประกันการทำงานค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี ค่าล่วงเวลาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้อง
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาห้าวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหาย ต้องจ่ายเงินเพิ่มแก่พนักงานที่ต้องทำงานมากชั่วโมงขึ้น โจทก์จึงมีสิทธิได้เงินประกันคืนเพียงบางส่วนส่วนเงินอื่น ๆ จำเลยไม่ต้องรับผิด
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาห้าวันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อจ้างพนักงานอื่นทำงานแทนเป็นค่าล่วงเวลาวันละ 55 บาท เป็นเวลา 30 วัน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายตามปกติในการดำเนินธุรกิจ มิใช่เรื่องโจทก์ออกจากงานทำให้จำเลยเสียหายโจทก์มีสิทธิรับเงินประกันคืนเต็มจำนวน พิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันจำนวน 2,500 บาท และจ่ายค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 540 บาทให้โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามระเบียบของจำเลยเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 12.3 มีความว่า หากมีความเสียหายเกิดขึ้นอันอยู่ ในความรับผิดชอบของพนักงาน ไม่ว่าจะโดยเจตนาไม่เจตนา ประมาทเลินเล่อ อันเป็นความผิดจากการกระทำของพนักงานโรงพยาบาลมีสิทธิจะหักค่าเสียหายออกจากเงินประกันได้ทันทีตามความเป็นจริง… และมีความอีกข้อหนึ่งว่า พนักงานต้องไม่กระทำผิดสถานร้ายแรงตามกฎหมายและถูกเลิกจ้างตามความผิดนั้นโรงพยาบาลจึงจะคืนเงินประกันให้ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยต้องเสียค่าล่วงเวลาในการจ้างพนักงานอื่นไปวันละ 45 บาท เป็นเวลา 30 วัน เป็นเงิน 1,350 บาท เห็นว่าการที่โจทก์ขาดงานอันเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นเวลาติดต่อกันถึงห้าวันนั้นย่อมเป็นการเสียหายแก่จำเลยอยู่ในตัว และถือได้ว่าเป็นการร้ายแรง เพราะตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) ก็ได้กำหนดไว้ชัดแจ้งแล้วว่าการละทิ้งงานติดต่อกันตั้งแต่สามวันขึ้นไปนายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุนี้ กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตามระเบียบดังกล่าวซึ่งจำเลยมีสิทธิหักเงินประกันได้
จำเลยอุทธรณ์ในประการต่อมาว่า โจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ในเรื่องนี้ในชั้นที่ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่า สำหรับค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ โดย ชัดแจ้งจึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท จำเลยมิได้โต้แย้งว่าการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลแรงงานดังกล่าวไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบอย่างไรจึงต้องถือว่าคดีมีประเด็นเฉพาะที่ศาลแรงงานกลางกำหนดเท่านั้นเมื่อคดีไม่มีประเด็นเรื่องค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีอุทธรณ์ของจำเลยในเรื่องนี้จึงเป็นอุทธรณ์นอกประเด็นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินประกันให้โจทก์ 1,150 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.