คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4986/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานซ่องโจรตาม ป.อ. มาตรา 210 นั้น ผู้กระทำจะต้องสมคบกันเพื่อกระทำความผิด กล่าวคือ จะต้องมีการร่วมคบคิดหรือประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อกระทำความผิด หรือการแสดงออกซึ่งความตกลงจะทำความผิดร่วมกัน ซึ่งมีสภาพเป็นการกระทำระหว่างผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5เพียงแต่ร่วมกันเจรจากับเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปล่อ ซื้อเสนอขายรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเท่านั้นจึงเป็นลักษณะที่เป็นการกระทำต่อบุคคลภายนอก เมื่อข้อเท็จจริงในคดีไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้มีการคบคิดกันว่าจะกระทำความผิดร่วมกันรับของโจรตามที่โจทก์ฟ้อง จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 กระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่อง โจรและเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้ฎีกาขึ้นมาด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83 ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 5 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้วคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 5 คนละ 2 ปี 8 เดือน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามทางนำสืบของโจทก์มีพยานโจทก์ที่นั่งโต๊ะอาหารร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 กับพวกที่ร้านพุทธมณฑลในวันและเวลาเกิดเหตุที่น่าจะได้เห็นพฤติการณ์และการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 รวมทั้งได้ยินจำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 พูดก็คือร้อยตำรวจโทเกรียงไกร จันทานายดาบตำรวจมะลิ เจียมทอง และจ่าสิบตำรวจวิชัย เอี่ยมเหล็กตามคำของพยานโจทก์ทั้งสามได้ความว่า พยานโจทก์ทั้งสามนั่งอยู่ที่โต๊ะอาหาร เพื่อรอพบจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กับพวกมาเจรจาซื้อขายรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาตามที่ได้นัดหมายกันไว้ก่อนแล้วร้อยตำรวจโทเกรียงไกร เบิกความว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกอีก 2 คนได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ประมาณ 5-6 คน มาจอดที่หน้าร้านอาหารพุทธมณฑล แล้วจำเลยทั้งห้ากับพวกดังกล่าวก็ไปนั่งร่วมรับประทานอาหารอยู่ที่โต๊ะของพยาน พยานพูดกับจำเลยทั้งห้ากับพวกว่า พยานต้องการซื้อรถจักรยานยนต์เป็นจำนวนมาก จำเลยที่ 4 และที่ 5 กับพวกอีก 2 คนก็ขับขี่รถจักรยานยนต์ออกไป โดยบอกว่าจะนำเอารถจักรยานยนต์มาให้พยานดูอีก นายดาบตำรวจมะลิเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์มาจอดที่หน้าร้านแล้วจำเลยทั้งสามก็ไปนั่งที่โต๊ะของพยาน หลังจากนั้นประมาณ 10 นาที ก็มีชายอีก 2 คนขับขี่รถจักรยานยนต์คนละคันมาจอดที่หน้าร้านแล้วเข้าไปนั่งรวมอยู่ที่โต๊ะพยาน ร้อยตำรวจโทเกรียงไกรได้เจรจากับจำเลยทั้งสามว่าจะขอซื้อรถจักรยานยนต์จำนวนหลายคัน พวกของจำเลยที่ 3 คน บอกว่าจะไปเอามาให้ดู แล้วพวกของจำเลย 3 คน ก็ขับขี่รถจักรยานยนต์ออกไป และจ่าสิบตำรวจวิชัย เบิกความว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกอีกหนึ่งคนได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ประมาณ 6 คัน มาจอดอยู่ที่หน้าร้านแล้วจำเลยกับพวกก็ไปนั่งอยู่ที่โต๊ะของพยาน ในระหว่างนั้นได้มีการพูดคุยกันถึงการขายรถจักรยานยนต์ โดยจำเลยที่ 1 จะนำรถจักรยานยนต์มาขายให้แก่ร้อยตำรวจโทเกรียงไกร ต่อมาพยานเห็นจำเลยที่ 4 และที่ 5 ขับขี่รถจักรยานยนต์ออกไป โดยบอกว่าจะไปนำรถจักรยานยนต์คันใหม่มาให้ และจากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามประกอบกับคำเบิกความของพันตำรวจโทสรรเสริญ เสนีวงศ์ ณ อยุธยาและร้อยตำรวจเอกไกรสร จิตต์อนงค์ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 กับพวก หรือพวกของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 พากันออกไปแล้ว ต่อมาไม่นานเจ้าพนักงานตำรวจก็จับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และหลังจากนั้นก็ตามไปจับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ในวันเดียวกัน กับได้ความว่ารถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ขับขี่ต่างก็เป็นรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาศาลฎีกาเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่ร้อยตำรวจไกรสร นายดาบตำรวจมะลิและจ่าสิบตำรวจวิชัยเบิกความก็คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมเจรจาขายรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาให้แก่ร้อยตำรวจเอกไกรสรเท่านั้นแต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 ที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นความผิดคือความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น ผู้กระทำต้องสมคบกันเพื่อกระทำความผิด กล่าวคือ ร่วมคบคิดกันหรือการแสดงออกซึ่งความตกลงจะทำความผิดร่วมกัน เช่นประชุมหารือวางแผนการที่จะกระทำความผิดดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติของมาตรา 212 ที่บัญญัติให้เอาความผิดแก่ผู้ที่จัดหาที่ประชุมหรือที่พำนักให้แก่ซ่องโจร ซึ่งเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นถึงองค์ประกอบของความผิดฐานเป็นซ่องโจรให้เห็นเด่นชัดว่า จะต้องมีการคบคิดประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อกระทำความผิดซึ่งมีสภาพเป็นการกระทำระหว่างผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน แต่ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้มีการคบคิดกันว่าจะกระทำความผิดร่วมกันรับของโจรตามที่โจทก์ฟ้องแก่อย่างใด เป็นแต่เพียงร่วมกันเจรจากับเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปล่อซื้อเสนอขายรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเท่านั้นอันเป็นลักษณะที่เป็นการกระทำต่อบุคคลภายนอก โดยเหตุดังได้วินิจฉัยมาแล้วนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 กระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรดังที่โจทก์ฟ้อง และคดีไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยพยานของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฟังขึ้น และศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้ฎีกาขึ้นมาด้วยเพราะเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดี ทั้งนี้อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบกับมาตรา 213”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share