แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์มิได้จ่ายเงินให้บริษัทต่างประเทศเพื่อเป็นค่าบริการสำหรับกิจการของโจทก์ จึงมิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์และมิใช่การจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ ไม่ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เงินภาษี หัก ณ ที่จ่าย ที่โจทก์ถูกหักไว้ตามมาตรา 69 ทวิแห่งประมวลรัษฎากรโจทก์มีสิทธิเอาไปเครดิตภาษีได้เฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีที่หักไว้เท่านั้น เมื่อโจทก์ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ถูกประเมิน โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเอามาเครดิตภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถูกประเมิน การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีในจำนวนที่เอาไปเครดิตไม่ได้ด้วยรวมเป็นเงินภาษีมากกว่าที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียเป็นเพียงการคิดภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายมิได้เอาเงินได้อื่นมาคำนวณเพื่อเรียกเก็บภาษี จึงมิใช่การประเมินเรียกเก็บเพิ่มเติมในประเด็นข้ออื่น หรือใช้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษี คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจทำได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ 3 รายการ โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับรายการที่ 1 ไม่ชอบให้ปลดภาษี ส่วนรายการที่ 2 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้วแต่ให้ลดเงินเพิ่มเหลือร้อยละ10 เป็นผลให้โจทก์ต้องเสียภาษีและเงินเพิ่ม 723,049.17 บาท และรายการที่ 3 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้องเพราะโจทก์มิได้นำภาษี หัก ณ ที่จ่าย จำนวน 196,719.80 บาท มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิแต่ประการใด ภาษีเงินได้จำนวนนี้เป็นของรอบระยะเวลาบัญชีก่อนวันที่ 1 เมษายน 2515 โจทก์จะนำมาเครดิตของรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างช่วงวันที่ 1 เมษายน 2515 ถึง 31 มีนาคม2516 ไม่ได้ จะต้องนำมาเครดิตในปีที่หักเท่านั้นจึงให้นำภาษีหัก ณที่จ่ายจำนวนดังกล่าวบวกกลับเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในรอบระยะเวลาเวลาบัญชี ปี พ.ศ. 2516 เป็นภาษีและเงินเพิ่ม 216,391.09บาท รวมเป็นภาษีและเงินเพิ่มทั้งสิ้น 939,468.17 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรรืเกี่ยวกับการประเมินรายการที่ 2 และที่ 3 ชอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว กับขอให้งดเงินเพิ่มแก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่าการพิจารณาและคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานประเมินและของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์บางส่วน โดยให้เพิกถอนการประเมินที่ 3.5/1039/2/00518 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2526และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 158 ข./2531 ลงวันที่ 11 เมษายน 2531 เฉพาะรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล หัก ณ ที่จ่าย จำนวน 196,819.80 บาทคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2516 ถึง 2519 ให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มเติมพร้อมด้วยเงินเพิ่ม โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มเติมพร้อมด้วยเงินเพิ่ม 2 รายการ คือ เงินค่าใช้จ่ายที่โจทก์ส่งไปให้บริษัทแองโกลไทย (ลอนดอน) จำกัด ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2516 ถึง2519 เป็นเงิน 2,191,143 บาท โจทก์อ้างว่าเป็นรายจ่ายของโจทก์จึงนำมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณหากำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี จำเลยเห็นว่ากฎหมายห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (13)(14) แห่งประมวลรัษฎากรจึงนำมาคำนวณภาษีใหม่ ให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่ม723,077.18 บาท ส่วนรายการที่ 2 โจทก์ได้นำภาษีเงินได้นิติบุคคลหักณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร มาเครดิตในการคำนวณภาษีของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2516 เป็นเงิน 196,719.80บาท เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าเงินจำนวนดังกล่าวมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ จึงถือเป็นเงินได้ของโจทก์และคำนวณภาษีใหม่โดยให้โจทก์เสียภาษีเพิ่ม 70,818.88 บาท แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าเงินจำนวน 169,719.80 บาทนี้ เจ้าพนักงานประเมินนำไปคำนวณภาษีโดยถือเป็นรายได้ไม่ ถูกต้อง แต่เป็นเงินภาษีที่โจทก์จะต้องนำไปเครดิตภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีที่หักไว้เท่านั้น เมื่อภาษีส่วนนี้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมิได้หัก ณ ที่จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชี ปี พ.ศ. 2516 ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินภาษีดังกล่าวไปเครดิตภาษีในปี พ.ศ. 2516 และให้โจทก์เสียภาษีมากกว่าที่เจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์เสียโดยให้โจทก์ต้องเสียภาษี 196,719.80บาทที่เอาไปเครดิตไม่ได้ด้วย
เบื้องต้นจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ก่อนในข้อที่ว่า เงินที่โจทก์จ่ายให้บริษัทแองโกล-ไทย (ลอนดอน) จำกัด จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้หรือไม่…
พิเคราะห์แล้ว ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นโจทก์มีนายบุญเลิศ เจริญทอง นางเสาวนิต โพธานันท์ และนายไพบูลย์เฉลิมทรัพยากร เบิกความสอดคล้องกันว่า บริษัทแองโกล-ไทย (ลอนดอน)จำกัด ได้ให้คำแนะนำในด้านการบริหารแก่โจทก์ การหาตัวแทนจำหน่ายสินค้าโจทก์ในต่างประเทศ การฝึกอบรมพนักงานของโจทก์ หาแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ โจทก์จึงต้องเสียค่าบริการให้แก่บริษัทแองโกล-ไทย(ลอนดอน) จำกัด ค่าใช้จ่ายดังกล่าวทางบริษัทแองโกล-ไทย (ลอนดอน)จำกัด ส่งใบแจ้งหนี้มา และโจทก์ก็จ่ายให้ตามเอกสารหมาย จ.17 และจ.18 เมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวประกอบกับเอกสารหมาย จ.17 และ จ.18 แล้ว ก็ไม่อาจทราบได้เลยว่า โจทก์จ่ายเงินให้บริษัทแองโกล-ไทย (ลอนดอน) จำกัด เป็นค่าอะไรบ้าง ซึ่งจำเลยโต้แย้งว่ามิได้จ่ายเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะ เป็นค่าใช้จ่ายของงานที่ทำในต่างประเทศสำหรับสำนักงาน มีค่าภาษี ค่าไฟฟ้า ค่าทำความร้อน ซึ่งไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องอะไรกับสำนักงานของโจทก์ที่อยู่ในประเทศไทยโจทก์นำสืบเพียงแต่อ้างว่า จ่ายเป็นค่าบริการตามเอกสารที่โจทก์ส่งศาล หมาย จ.17 และ จ.18 ในเอกสารเหล่านั้น เมื่ออ่านข้อความแล้วไม่อาจทราบได้เลยว่าเป็นค่าบริการ แม้แต่ค่าเบี้ยประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ที่พยานโจทก์เบิกความยกตัวอย่างไว้ ก็ไม่มีรายละเอียดว่าจะเป็นค่าบริการให้โจทก์แต่ประการใด นอกจากนี้รายจ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์อ้างว่าจ่ายให้แก่บริษัทแองโกล-ไทย (ลอนดอน) จำกัด เป็นค่าบริการที่บริษัทแอลโกล-ไทย (ลอนดอน) จำกัด ดำเนินการให้โจทก์ ก็เป็นเงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้ของบริษัทแองโกล-ไทย (ลอนดอน)จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของต่างประเทศ ที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยเมื่อจ่ายเงินได้ดังกล่าว โจทก์จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ดังกล่าว แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ หักภาษี ณ ที่จ่ายในการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเป็นข้อสนับสนุนว่า เงินดังกล่าวมิใช่เป็นเงินค่าบริการของบริษัทแองโกล-ไทย (ลอนดอน) จำกัด ข้อนำสืบของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทดังกล่าวเพื่อเป็นค่าบริการสำหรับกิจการของโจทก์จึงมิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์และมิใช่จ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยเฉพาะ ไม่ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ…
ต่อไปจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยที่ว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มขึ้นจากที่เจ้าพนักงานประเมิน ได้ประเมินไว้ได้หรือไม่ตามข้อเท็จจริงที่ยุติปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า เงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 196,719.80บาท มิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ จึงถือเป็นเงินได้ของโจทก์และคำนวณภาษีและเงินเพิ่มให้โจทก์เสียรวม 70,818.88 บาทแต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าเงินจำนวน 196,719.80 บาท นี้เจ้าพนักงานประเมินนำไปคำนวณภาษีโดยถือเป็นเงินได้ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นภาษีที่โจทก์ถูกหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งโจทก์มีสิทธิจะเอาไปเครดิตภาษีได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่หักไว้เมื่อปรากฏว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินภาษีที่โจทก์ถูกหัก ณ ที่จ่ายก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.2516 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเอามาเครดิตภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2516 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงวินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีในจำนวนที่เอาไปเครดิตไม่ได้เป็นเงิน196,719.80 บาท ซึ่งมากกว่าจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียนั้น เห็นว่า เงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 196,719.80บาท ดังกล่าวนั้นได้มีการโต้แย้งกันมาแต่ชั้นเจ้าพนักงานประเมินตลอดมาจนถึงขั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพียงแต่เจ้าพนักงานประเมินคิดภาษีไม่ถูกต้อง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงคิดให้ถูกต้องตามกฎหมายมิได้เอาเงินได้อื่นมาคำนวณเพื่อเรียกเก็บภาษีแต่อย่างใด กรณีเช่นนี้มิใช่เป็นการประเมินเรียกเก็บเพิ่มเติมในประเด็นข้ออื่น หรือใช้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีแต่อย่างใด คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจทำได้…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายจำนวน 196,719.80บาท เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง.