คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4794/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่อกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1เกี่ยวกับการประเมินภาษีศุลกากร ถือว่าเป็นอุทธรณ์การประเมินอากรตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ทวิ วรรคสาม ไม่ใช่เป็นการอุทธรณ์การประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แม้โจทก์ที่ 1 จะไม่ได้วินิจฉัยหรือวินิจฉัยไม่เสร็จ เมื่อจำเลยไม่ชำระภาษีอากรตามที่ได้ประเมินย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง พนักงานของโจทก์ที่ 1 ประเมินเรียกเก็บภาษีอากรสำหรับสินค้าจำพวกเขากวางอ่อนติดกะโหลกที่จำเลยนำเข้าระหว่างวันที่ 2 และ 6พฤศจิกายน 2521 การกำหนดราคาอันแท้จริงในท้องตลาด โดยอาศัยราคาจากบัตรวิเคราะห์ราคาทำขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ห่างจากวันที่จำเลยนำสินค้าพิพาทเข้าประมาณ 3 เดือน ซึ่งโจทก์สอบถามไปยังกงสุลฝ่ายศุลกากรประจำกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง โดยได้ทำการสอบราคาจากร้านสรรพสินค้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน 3 ร้าน และร้านขายเครื่องยาจีนที่มีขนาดใหญ่พอสมควร 4 ร้าน แล้วเฉลี่ยราคา เพื่อความเป็นธรรมจากนั้นจึงลดราคาเป็นการขายส่งอีกร้อยละ 20 คิดเป็นราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3,179.74 เหรียญฮ่องกง แต่ได้มีการปัดเศษราคาตามบัตรราคาจึงเป็นกิโลกรัมละ 3,180 เหรียญฮ่องกง ถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาทที่จำเลยนำเข้าการประเมินของโจทก์จึงชอบ จำเลยต้องรับผิดชำระภาษีอากรเพิ่มจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินประกันคืน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 และ 6 พฤศจิกายน 2521 จำเลยนำเข้าเขากวางอ่อนติดกะโหลกจากเมืองฮ่องกง ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 111-0572 สำแดงน้ำหนัก 17.51 กิโลกรัมราคา 26,124.23 บาท ขอเสียอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลรวมภาษีอากร 18,146.84 บาทและเลขที่ 111-1433 สำแดงน้ำหนัก 16.97กิโลกรัม ราคา 54,402.98 บาท ขอเสียอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล รวมภาษีอากร 17,590.29 บาท ตามลำดับ เจ้าพนักงานโจทก์ไม่พอใจราคาสินค้าที่จำเลยสำแดง ขณะนั้นยังไม่อาจหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันมาเปรียบเทียบประเมินราคาได้ จึงให้จำเลยวางเงินประกันภาษีอากร 15,200 บาทและ 14,300 บาทตามลำดับแล้วตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลย ต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ได้สอบถามราคาท้องตลาดของสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันกับที่จำเลยนำเข้าไปยังกงสุลฝ่ายศุลกากรของไทยประจำเมืองฮ่องกง ได้รับแจ้งว่าเขากวางอ่อนติดกะโหลกมีราคา เอฟ.โอ.บี. โดยเฉลี่ย 3,180 เหรียญฮ่องกงต่อกิโลกรัม โจทก์ที่ 1 ใช้ราคาดังกล่าวกำหนดในบัตรราคา และประเมินราคาสินค้าที่จำเลยนำเข้า ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ 111-0572 และเลขที่ 111-1433 ให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรเพิ่มเป็นเงิน 47,561.89 บาท และ 42,866.48 บาท ตามลำดับได้แจ้งให้จำเลยทราบ แต่จำเลยไม่ชำระค่าภาษีอากรตามที่ได้รับแจ้งภายในเวลาที่กำหนด จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 20ของค่าอากรขาเข้าที่ต้องชำระเพิ่ม ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลคิดรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 212,719.73 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีอากรตามฟ้องจำนวน 212,719.73 บาท แก่โจทก์ และเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้า 44,169.28 บาท และ 39,681.60 บาท ตามลำดับ เป็นรายเดือนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าบัตรราคาที่โจทก์นำมาใช้ประเมินราคาเขากวางอ่อนติดกะโหลกที่จำเลยนำเข้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะราคาที่กำหนดโจทก์ได้มาอย่างไรไม่แน่ชัด และเขากวางอ่อนติดกะโหลกมีแหล่งกำเนิดจากประเทศสหรัฐประชาชนจีนควรจะสอบถามราคาจากประเทศดังกล่าวแทนที่จะสอบถามจากเมืองฮ่องกง ที่โจทก์อ้างว่าไม่มีราคาสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันกับสินค้าที่จำเลยนำเข้าในระยะเวลาใกล้เคียงกันไม่เป็นความจริง เพราะในวันที่ 26 พฤษภาคม 2520 วันที่20 พฤศจิกายน 2520 และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2521 เคยมีผู้นำเข้าราคากิโลกรัมละ 220,750 และ 600 เหรียญฮ่องกงตามลำดับ โจทก์รับว่าเป็นราคาที่แท้จริงและเป็นราคาในท้องตลาดของประเทศไทย โจทก์จะต้องนำราคานี้มาประเมินเพื่อเก็บภาษีอากรจากสินค้าของจำเลยจึงจะถูกต้องไม่ใช่นำราคาจากบัตรราคา ซึ่งสูงมากประมาณ 14 เท่า มาประเมินจำเลยได้อุทธรณ์ต่อโจทก์ภายในกำหนดระยะเวลา แต่โจทก์ยังมิได้วินิจฉัยแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ได้เรียกให้จำเลยวางเงินประกันอากรขาเข้าไว้ 14,000 บาท และ 13,300 บาท ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน 1,200 บาท และ 1,000 บาท ตามลำดับ ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิจะเรียกเงินประกันดังกล่าวได้ จึงขอฟ้องแย้งเรียกเงินประกันคืน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเงินทั้งสิ้น 51,265.78 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 29,500 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าชำระเสร็จให้แก่จำเลย
โจทก์ทั้งสองแก้ฟ้องแย้งว่า ราคาตามบัตรราคาได้มาจากการสืบราคาของกงสุลฝ่ายศุลกากรในระยะเวลาใกล้เคียงกับที่จำเลยนำสินค้ารายพิพาทเข้า จึงเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีอากรจำนวน 212,719.73บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากต้นเงินอากรขาเข้า 44,169.28 และ 39,681.60 บาท ตามลำดับและยกฟ้องแย้งจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 112 ทวิ วรรคสาม กำหนดไว้ว่าผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกอาจอุทธรณ์การประเมินอากรต่ออธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายได้ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อกำหนดว่าอาจอุทธรณ์ได้ ถ้าไม่อุทธรณ์ก็มิได้ตัดสิทธิในการฟ้องคดีแต่อย่างใด เมื่อมีการอุทธรณ์แล้ว แม้จะมิได้พิจารณาอุทธรณ์หรือพิจารณาไม่เสร็จก็มิได้ห้ามมิให้ฟ้องคดี เมื่อมีการประเมินเงินภาษีอากรอันจะพึงต้องเสียและแจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยไม่ชำระก็เป็นการโต้แย้งสิทธิและโจทก์มีอำนาจที่จะฟ้องได้ทันที ที่จำเลยอ้างว่า เมื่อมีการอุทธรณ์อยู่ ยังไม่มีการโต้แย้งสิทธิ ไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา30(2) แห่งประมวลรัษฎากรและอ้างฎีกามาประกอบด้วยนั้น เห็นว่า ตามข้ออ้างของจำเลยเป็นเรื่องภาษีตามประมวลรัษฎากร แต่คดีนี้จำเลยขอความเป็นธรรมต่อโจทก์ที่ 1 เกี่ยวกับการประเมินภาษี ถือเป็นอุทธรณ์การประเมินอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ทวิวรรคสาม ไม่ถือว่าเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 30 เพราะไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนให้อุทธรณ์การประเมินต่อโจทก์ที่ 1 แทนได้ ทั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็เป็นหน่วยงานที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ต่างหาก จึงจะอนุโลมถือว่าเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการประเมินภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลแล้วหาได้ไม่ต้องถือว่าในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านตามประมวลรัษฎากร ฉะนั้น การที่จำเลยใช้สิทธิอุทธรณ์ดังกล่าวแม้โจทก์จะไม่ได้วินิจฉัยหรือวินิจฉัยไม่เสร็จ แต่จำเลยไม่ได้ชำระภาษีอากรตามที่ประเมินย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า การประเมินภาษีอากรชอบหรือไม่และจำเลยมีสิทธิเรียกเงินประกันคืนหรือไม่…เห็นว่าในปัญหาเรื่องการประเมินภาษีอากรชอบหรือไม่ต้องพิจารณาว่า ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าพิพาทเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์มีนางนพรัตน์ ลักษณะเกียรติ และนางพวงผกา ยิ่งเสรี เบิกความว่าราคาสินค้าเขากวางอ่อนติดกะโหลกที่โจทก์นำเข้า และได้สำแดงราคาในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการค้าต่ำกว่าราคาท้องตลาด ราคาท้องตลาดเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้อาศัยราคาจากบัตรวิเคราะห์ราคา และราคาในบัตรดังกล่าวได้มาจากกองวิเคราะห์ราคา กรมศุลกากร ซึ่งสอบถามไปยังกงสุลฝ่ายศุลกากรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ตามหนังสือลงวันที่ 13ธันวาคม 2521 และได้รับแจ้งตามหนังสือลงวันที่ 9 มกราคม 2522เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้คำนวณราคาตามที่ได้รับแจ้งเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3,180 เหรียญฮ่องกง จึงได้กำหนดราคาในบัตรวิเคราะห์ราคาตามคำพยานโจทก์ แสดงให้เห็นว่าเขากวางอ่อนติดกะโหลกที่จำเลยนำเข้าราคาต่ำไป จึงได้ประเมินใหม่ตามราคาที่ได้สอบถามไปยังกงสุลฝ่ายศุลกากรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง เป็นการแสวงหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เพื่อเรียกเก็บภาษีอากรเกี่ยวกับสินค้าเขากวางอ่อนติดกะโหลก และได้เริ่มกระทำการสอบถามราคาในขณะที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 สงสัยในราคาสินค้าที่จำเลยนำเข้า เป็นการสอบหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าประเภทและชนิดเดียวกันในเวลาที่จำเลยนำเข้าของ โดยได้ทำการสอบราคาจากร้านสรรพสินค้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน 3 ร้าน และร้านขายเครื่องยาจีนที่มีขนาดใหญ่พอสมควร 4 ร้านแล้วเฉลี่ยราคาเพื่อความเป็นธรรม จากนั้นจึงลดราคาเป็นการขายส่งอีกร้อยละ 20 คิดเป็นราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3,179.74 เหรียญฮ่องกง แต่ได้มีการปัดเศษราคาตามบัตรราคาจึงเป็นกิโลกรัมละ 3,180 เหรียญฮ่องกงรายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.20 เอกสารฉบับนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่9 มกราคม 2522 ซึ่งห่างจากวันที่จำเลยนำสินค้าเข้าประมาณ 2 เดือนส่วนจำเลยมีนายประภาส โอสถาภิรัตน์ เป็นพยานเบิกความว่า ราคาเขากวางอ่อนติดกะโหลกที่จำเลยญซื้อมา มาจากเมืองฮ่องกงกิโลกรัมละ 750เหรียญฮ่องกง มีบริษัทอื่นนำเข้ามาในราคาใกล้เคียงกัน คือบริษัทเวชศรีสัมพันธ์ จำกัด นำเขากวางอ่อนที่หั่นแล้วโดยสำแดงราคา 220เหรียญฮ่องกงต่อกิโลกรัม และในเดือนพฤศจิกายน 2521 จำเลยได้นำเขากวางอ่อนชนิดไม่ติดกะโหลกเข้ามาในราชอาณาจักร โดยสำแดงราคา 600เหรียญฮ่องกงต่อกิโลกรัม และในปี พ.ศ. 2524 บริษัทฮั่งฮง จำกัดสั่งซื้อจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนสำแดงราคา 650 เหรียญฮ่องกงต่อกิโลกรัม เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 พอใจตามราคาที่สำแดงแม้จะเป็นเช่นนั้น ปรากฏว่าทุกรายเป็นเขากวางที่หั่นและไม่มีกะโหลกติดไม่เหมือนกับสินค้าของจำเลยที่มีกะโหลกติดอยู่ด้วย แม้จำเลยจะนำสืบว่าเขากวางอ่อนที่ไม่ติดกะโหลกจะมีราคาแพงกว่าที่ติดกะโหลก แต่ราคาสินค้าที่จำเลยนำสืบมานั้นมิได้แสดงให้เห็นว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เป็นเพียงราคาสินค้าที่นำเข้าขณะเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจแล้วพอใจจึงปล่อยสินค้าให้ผู้นำเข้าไป หรือบางรายถ้ามีการวางเงินประกันก็ให้คืนเงินประกันไปและโดยเฉพาะรายการที่บริษัทฮั่วฮง จำกัด สั่งเข้ามาเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยนำเข้าคดีนี้ประมาณ3 ปี จะนำมาเปรียบเทียบกับราคาสินค้าของจำเลยแล้วถือเป็นราคาตามท้องตลาดอันแท้จริงสำหรับการนำเข้ารายนี้ ย่อมไม่ถูกต้อง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าราคาที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ประเมินภาษีอากรจากจำเลยเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินดังกล่าวชอบแล้ว จำเลยต้องรับผิดชำระภาษีอากรเพิ่ม จึงไม่มีสิทธิจะเรียกเงินประกันคืนศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share