คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4769/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยอ้างว่า การกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ในการดำเนินการบังคับคดี กรณีก็ตก อยู่ ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งจำเลยจะต้องเสนอเรื่องต่อศาลภายใน 8 วัน นับแต่วันทราบการฝ่าฝืนคือวันที่ยึดทรัพย์ เมื่อจ่าศาลได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีจากศาลแล้วย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการตามกฎหมายและมีอำนาจที่จะมอบหมายให้รองจ่าศาลไปปฏิบัติหน้าที่แทนได้ในเมื่อตนเองไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ การมอบหมายดังกล่าวเป็นเรื่องภายในและอยู่ในความรับผิดชอบของจ่าศาลโดยตรง.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์และจำเลยทั้งสามได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับหนี้เงินกู้และเบิกเงินเกินบัญชีตามที่โจทก์ฟ้องซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นคดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาจำเลยทั้งสามผิดนัดสัญญาโจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน น.ส.3 พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของจำเลยที่ 3 เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2531 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้สู้ราคาสูงสุดเป็นเงิน 1,580,000 บาท ต่อมาวันที่ 30 มีนาคม 2531 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์รายนี้ต่ำกว่าความเป็นจริง และการขายทอดตลาดครั้งนี้มีบุคคลอื่นซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นแต่งตั้งเป็นผู้ดำเนินการ จึงฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อีกทั้งราคาที่ขายทอดตลาดยังต่ำเกินสมควรอันเป็นการบังคับคดีที่ผิดระเบียบ และไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนการประเมินราคาทรัพย์สินรายนี้ของเจ้าพนักงานบังคับคดีกับเพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้ตลอดจนกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า การยึดทรัพย์รายนี้จำเลยที่ 3 ก็อยู่รู้เห็นและเห็นชอบกับราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี ทั้งการขายทอดตลาดก็ได้ราคาเหมาะสมโดยได้มีการประกาศขายทอดตลาดมาก่อนถึง5 ครั้ง การขายทอดตลาดได้กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้การคำนวณราคาทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีมิใช่เป็นการคำนวณราคาทรัพย์เพื่อเรียกค่าธรรมเนียมการยึดแล้วไม่ขายตามที่จำเลยที่ 3 อ้างก็ตาม แต่ตามรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 29 มิถุนายน 2530 ระบุว่าในวันที่ไปทำการยึดทรัพย์เมื่อวันที่ 26 เดือนเดียวกัน จำเลยที่ 3 ได้เซ็นทราบหมายบังคับคดีแล้ว และจำเลยที่ 3 ยังได้ลงลายมือชื่อในบันทึกการยึดทรัพย์ บัญชีทรัพย์ที่ยึดซึ่งระบุราคาทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณไว้ กับลงลายมือชื่อในสัญญารักษาทรัพย์ ซึ่งเอกสารเหล่านี้ต่างลงวันที่เดียวกับวันที่ยึดทรัพย์ทั้งสิ้น แสดงว่าจำเลยที่ 3ได้รู้เห็นการยึดทรัพย์และการคำนวณราคาทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยตลอด และเอกสารดังกล่าวเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำขึ้นในหน้าที่ราชการโดยมีโจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดี และจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน จำเลยที่ 3 จะเถียงว่าตนไม่รู้เห็นหรือไม่ทราบการคำนวณราคาทรัพย์หาได้ไม่ และเมื่อจำเลยที่ 3 อ้างว่า การกระทำของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายในการดำเนินการบังคับคดีดังที่ปรากฏในคำร้องคัดค้านของจำเลยที่ 3 ลงวันที่ 30มีนาคม 2531 กรณีก็ตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องเสนอเรื่องต่อศาลภายใน 8 วันนับแต่วันทราบการฝ่าฝืนคือวันที่ยึดทรัพย์ดังวินิจฉัยมาแล้ว เหตุผลตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
จำเลยที่ 3 ฎีกาในข้อต่อมาว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 โดยนางสาวเครือวัลย์ จงพิทักษ์รัตน์ รองจ่าศาล เมื่อวันที่22 มีนาคม 2531 นั้นไม่ชอบ เพราะมิใช่เจ้าพนักงานบังคับคดีที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลโดยเฉพาะนั้น เห็นว่าจ่าศาลเป็นหัวหน้างานราชการในฝ่ายธุรการของศาล ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติงานในหน้าที่ตามคำสั่งศาล เมื่อจ่าศาลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีจากศาลแล้ว ย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการบังคับคดีไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ และมีอำนาจหน้าที่จะมอบหมายให้รองจ่าศาลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานศาลผู้หนึ่งไปปฏิบัติหน้าที่แทนได้ในเมื่อตนเองไม่อาจไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามระเบียบวิธีของทางราชการ มิฉะนั้นแล้วการบังคับคดีก็ไม่อาจดำเนินไปได้ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น และการมอบหมายให้รองจ่าศาลไปปฏิบัติหน้าที่นี้เป็นเรื่องภายในและอยู่ในความรับผิดชอบของจ่าศาลโดยตรงอยู่แล้ว ทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของรองจ่าศาลในฐานะเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนี้ก็ไม่ปรากฏว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใดถือได้ว่า นางสาวเครือวัลย์ จงพิทักษ์รัตน์ รองจ่าศาลได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share