คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตอนแรกระบุว่า โจทก์มาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ให้ได้รับโทษตามกฎหมายแต่ในตอนท้ายระบุว่าร้อยเวรสอบสวนได้รับแจ้งไว้แล้ว สอบถามผู้แจ้งยืนยันว่ายังไม่มอบคดีแก่พนักงานสอบสวน เพียงแต่ต้องการนำเช็คไปฟ้องร้องต่อศาลทางหนึ่งก่อน ดังนี้ คำของโจทก์ที่แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ยังไม่มอบคดีต่อพนักงานสอบสวน แสดงว่าโจทก์กล่าวหาโดยมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดคดีของโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2ชั่วคราว
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 4 เดือน
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุเกี่ยวกับการแจ้งความตามเช็คในตอนแรกว่า โจทก์มาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ให้ได้รับโทษตามกฎหมาย แต่ในตอนท้ายกลับระบุว่า ร้อยตำรวจตรีจรุงวิทย์ ภุมมา ร้อยเวรสอบสวนได้รับแจ้งไว้แล้ว สอบถามผู้แจ้งยืนยันว่า ยังไม่มอบคดีต่อพนักงานสอบสวนเพียงแต่ต้องการนำเช็คไปฟ้องร้องต่อศาลทางหนึ่งก่อน เห็นว่าคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) หมายถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ ดังนั้นคำของโจทก์ที่แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่ายังไม่มอบคดีต่อพนักงานสอบสวน จึงไม่เป็นการร้องทุกข์ และคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นความผิดอันยอมความได้ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 เมื่อคดีนี้โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตามเช็คเอกสารหมาย จ.2 และจ.4 ในวันที่ 7 มิถุนายน 2527 และวันที่ 13 มิถุนายน 2527 ตามลำดับแต่ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยไว้ และมาฟ้องคดีเมื่อวันที่15 มกราคม 2530 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share