คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4553/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในบริเวณที่เกิดเหตุก่อนถึงทางรถไฟ 300 เมตร มีป้ายริมถนนบอกว่ามีทางรถไฟ เมื่อเข้ามาใกล้ 150 เมตร มีป้ายเครื่องหมายบอกอีกว่าข้างหน้ามีรถไฟตัดผ่านถนน และก่อนถึงทางรถไฟ มีป้ายสัญญาณ “หยุด” การที่รถยนต์ของฝ่ายจำเลยไม่ชะลอความเร็วและไม่หยุดตามเครื่องหมายจราจรไปชนรถไฟของโจทก์ซึ่งยาวเป็นขบวนและวิ่งมาตามรางตามปกตินั้น นับว่าเป็นความประมาทอย่างร้ายแรงฝ่ายเดียว จะอ้างว่าโจทก์มิได้มีเครื่องปิดกั้นถนนขณะรถไฟแล่นผ่านหาได้ไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ถนนใดแม้จะเป็นถนนสำคัญแต่การต้องทำเครื่องปิดกั้นถนนนั้นจะต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมและความจำเป็นที่จะต้องทำเฉพาะส่วนที่ทางรถไฟตัดกับถนนนั้นเป็นแห่ง ๆ ไป มิใช่ต้องทำทุกแห่งที่ทางรถไฟตัดกับถนน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารปรับอากาศหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 10-5055 โดยเป็นผู้เช่าซื้อและเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้นำรถคันดังกล่าวมาประกอบกิจการวิ่งรับส่งผู้โดยสารกรุงเทพ-หาดใหญ่โดยร่วมประกอบกิจการกับจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2526เวลา 5.35 นาฬิกา นายแสวง อินทร์อ่อน ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้ขับรถยนต์โดยสารปรับอากาศคันดังกล่าวรับผู้โดยสารจากกรุงเทพมหานครจะไปยังอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาตามคำสั่งและในกิจการของจำเลยทั้งสาม ขณะที่รถยนต์แล่นไปตามถนนสายเอเซียมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งมีทางรถไฟตัดผ่านถนน นายแสวงอินทร์อ่อน ได้ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ชะลอความเร็วลงเมื่อแล่นผ่านป้ายบอกเครื่องหมายให้ระวังรถไฟ และไม่หยุดรถเมื่อแล่นมาถึงป้ายสัญญาณจราจรให้หยุดรถ แต่กลับขับรถเข้าไปชนขบวนรถไฟของโจทก์ ซึ่งวิ่งระหว่างสถานีสุราษฎร์ธานีกับสถานีคีรีรัฐนิคมเป็นเหตุให้รถไฟตกรางทั้งขบวน หัวรถจักรดีเซลนำขบวน รถพ่วงในขบวนทางรถไฟและเครื่องอุปกรณ์การสื่อสารของโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ต้องจัดขบวนรถไฟพิเศษไปช่วยยกรถที่ตกรางต้องงดเดินขบวนรถตามปกติ รวมความเสียหายของโจทก์ เป็นเงิน217,302.15 บาท หลังเกิดเหตุนายแสวง อินทร์อ่อน หลบหนีจำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันเป็นเงินจำนวน 233,599.81 บาท
จำเลยทั้งสามให้การว่า นายแสวง อินทร์อ่อน มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 3 จำเลยที่ 3 มิได้มีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในการประกอบกิจการเดินรถ เหตุที่รถชนกันมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายแสวง อินทร์อ่อน หากเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์และคนขับรถไฟของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเป็นฝ่ายประมาทแต่โจทก์มีส่วนประมาทด้วย นายแสวง อินทร์อ่อน เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินสองในสามเป็นเงิน 74,493.81 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ 87,606.83 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าวันเกิดเหตุเวลา 5 นาฬิกาเศษรถยนต์โดยสารปรับอากาศซึ่งนายแสวง อินทร์อ่อน ลูกจ้างของจำเลยทั้งสามขับในทางการที่จ้างแล่นมาตามถนนสายเอเซีย และชนด้านขวาของหัวรถจักรขบวนรถไฟที่แล่นผ่านถนนนอกชานเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้หัวรถจักรและรถตู้โดยสารพ่วงอีก 6 ตู้ตกราง เกิดความเสียหาย บริเวณที่เกิดเหตุไม่มีเครื่องปิดกั้นถนนที่ตัดผ่านทางรถไฟ แต่ก่อนจะถึงทางรถไฟ300 เมตร มีป้ายเครื่องหมายข้างถนนว่าอีก 300 เมตร มีทางรถไฟเมื่อเข้ามาใกล้ 150 เมตร มีป้ายเครื่องหมายทางรถไฟตัดผ่านถนนและก่อนถึงทางรถไฟ 5 เมตร จะมีป้าย “หยุด” ส่วนทางรถไฟก่อนจะถึงที่เกิดเหตุประมาณ 600 เมตร มีป้ายวงกลมมีตัวอักษร “ต”อยู่ภายในแสดงเตือนว่าจะมีการจำกัดความเร็วอยู่ข้างหน้าก่อนจะถึงจุดที่ทางรถไฟตัดกับทางรถยนต์ประมาณ 300 เมตร มีป้ายอักษร “ว”หมายถึงเปิดหวูด และเมื่อเข้าไปห่างจุดตัดกันประมาณ 100 เมตรจะมีป้ายลดความเร็วเหลือเพียง 20 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง
ปัญหาข้อแรกโจทก์ฎีกาว่า ที่โจทก์มิได้ทำเครื่องปิดกั้นถนนขณะรถไฟแล่นผ่านนั้นมิได้เป็นความประมาทของโจทก์ แต่เป็นความประมาทของคนขับรถยนต์ของจำเลยฝ่ายเดียว โจทก์จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายนั้น ตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ. 2464 มาตรา 72 บัญญัติว่า “เมื่อทางรถไฟผ่านถนนสำคัญเสมอระดับ ให้ทำประตูหรือขึงโซ่หรือทำราวกั้นขวางถนนหรือทางนั้นตามควรแก่การ” และมาตรา 73 บัญญัติว่า “เมื่อถนนที่จะต้องผ่านข้ามไปนั้นไม่สู้สำคัญพอถึงกับให้ทำประตูกั้นแล้ว ให้พนักงานขับรถจักรเปิดหวูดก่อนที่รถจะผ่านข้างถนนนั้น กับให้ทำเครื่องหมายสัญญาณอย่างถาวรปักให้แจ้งบนทางและถนนนั้นเพื่อให้พนักงานขับรถจักรและประชาชนรู้ตัวก่อนภายในเวลา อันสมควรว่าเข้ามาใกล้ทางรถไฟที่ผ่านข้ามถนน” ศาลฎีกาเห็นว่า ถนนใดแม้จะเป็นถนนสำคัญแต่การต้องทำเครื่องปิดกั้นถนนนั้นจะต้องพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมและความจำเป็นที่จะต้องทำเฉพาะส่วนที่ทางรถไฟตัดกับถนนนั้นเป็นแห่ง ๆ ไป มิใช่ต้องทำทุกแห่งที่ทางรถไฟตัดกับถนน ได้ความจากร้อยตำรวจตรีสนิท ชัยประพันธ์ พนักงานสอบสวนและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุในสำนวนการสอบสวนเอกสารหมาย ป.จ.ส.1 ว่าถนนที่เกิดเหตุอยู่นอกเมือง นาง ๆ จะมีรถยนต์วิ่งสักคันหนึ่ง สองข้างทางรถไฟเป็นป่าโปร่ง ตามภาพถ่ายรถไฟของโจทก์ที่ตกรางและถนนที่มีป้ายสัญญาณเตือนหมาย จ.4 ถึง จ.7 ก็ปรากฏว่า บริเวณสองข้างทางรถไฟและถนนมีหญ้าขึ้นเป็นส่วนใหญ่ซึ่งไม่สูงและมีไม้ยืนต้นสูงประปราย มองไปทั้งสองข้างทางรถไฟและถนนจะเห็นกันได้ง่ายนายเทศ รราชสันเทียะ พยานโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งอาณาบาลมีหน้าที่สอบสวนในท้องที่เกิดเหตุเบิกความว่า พยานทำงานในหน้าที่นี้มา4 ปีแล้ว เพิ่งมีเหตุตรงที่เกิดเหตุคดีนี้เป็นครั้งแรก เห็นว่านายเทศมีหน้าที่รับผิดชอบในท้องที่เกิดเหตุมาหลายปี จึงมีน้ำหนักรับฟังได้เป็นอย่างดี ที่นายทวีป ธานีรัตน์ คนขับรถไฟของโจทก์เบิกความว่า ป้ายจำกัดความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงปักมานาน 5 ปี เหตุที่ปักเนื่องจากก่อนนั้นเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งนั้น นายทวีปขับรถไฟสายนี้ทุก 45 วัน จะผ่านไปกลับ 1 เที่ยวและหลังจากปักป้ายจำกัดความเร็วแล้ว นายทวีปมิได้เบิกความว่ายังมีอุบัติเหตุบ่อยครั้งแต่อย่างใด ฉะนั้นโจทก์จึงยังไม่จำเป็นต้องทำเครื่องปิดกั้นถนนก่อนถึงทางรถไฟ 300 เมตร มีป้ายริมถนนบอกว่ามีทางรถไฟ เมื่อเข้ามาใกล้ 150 เมตร มีป้ายเครื่องหมายบอกอีกว่าข้างหน้ามีรถไฟตัดผ่านถนนและก่อนถึงทางรถไฟ 5 เมตรมีป้ายสัญญาณ “หยุด” การที่รถยนต์ของฝ่ายจำเลยไม่ชะลอความเร็วและไม่หยุดตามเครื่องหมายการจราจรไปชนรถไฟของโจทก์ซึ่งยาวเป็นขบวน และวิ่งมาตามรางตามปกตินั้นนับว่าเป็นความประมาทอย่างร้ายแรงฝ่ายเดียว จะอ้างว่าโจทก์มิได้มีเครื่องปิดกั้นถนนขณะรถไฟแล่นผ่านหาได้ไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์183,057.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่15 ตุลาคม 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share