คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4006/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทกับสินค้าของโจทก์ที่ผลิตออกแจกจ่ายแก่ลูกค้าและประชาชนในประเทศไทยก่อนจำเลยเพื่อทราบข้อมูลว่าสินค้าที่โจทก์ผลิตออกมาจะได้รับความนิยมจากประชาชนหรือไม่เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ถึงแม้ในชั้นแรกโจทก์จะแจกจ่ายแก่ประชาชนเป็นระยะเวลาสั้น ๆและมีจำนวนไม่มานักก็ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทแล้ว เมื่อโจทก์ใช้มาก่อนจำเลยผู้จดทะเบียนและได้ความว่าสินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทได้รับความนิยมจากประชาชนในประเทศไทย โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯมาตรา 41(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารูป”กระดิ่งคู่” ใต้รูปมีอักษรไทยคำว่า “กระดิ่งแดง” และเครื่องหมายการค้ารูป “กระดิ่งคู่” ซึ่งโจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นเอง และใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว กับสินค้าประเภทเครื่องดื่มบำรุงกำลังซึ่งโจทก์เป็นผู้ผลิตตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2525เป็นต้นมา ครั้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2526 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวก 42นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแจ้งให้โจทก์ทราบว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้แล้วสำหรับสินค้าจำพวกที่ 42 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2525 และ 14 มกราคม 2526 โดยจำเลยจงใจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าซึ่งโจทก์ใช้มาก่อนจำเลยโจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูป “กระดิ่งคู่” มีอักษรไทยอยู่ใต้ภาพว่า “กระดิ่งแดง” และรูป “กระดิ่งคู่”ดีกว่าจำเลย เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจำเลยเลขที่ (ก) 128003 (ก) 128779 และ (ก) 128778 และห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าของจำเลยโดยสุจริต โจทก์ไม่เคยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนจำเลย จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปกระดิ่งคู่ ซึ่งมีอักษรไทยคำว่า “กระดิ่งแดง” อยู่ใต้รูปและเครื่องหมายการค้ารูป “กระดิ่งคู่”ดีกว่าจำเลย ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายตามคำขอของจำเลยเลขที่ (ก) 128003 (ก)128779 และ (ก) 128778 ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีกต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า โจทก์ได้ผลิตเครื่องดื่มบำรุงกำลังใช้เครื่องหมายการค้า”กระทิงแดง” ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 โดยให้บริษัท ทีซี-มัยซิน อุตสาหกรรม จำกัด เป็นผู้แทนจำหน่าย ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2526 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอ 2 ฉบับ ฉบับแรกขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูป”กระดิ่งคู่” มีตัวอักษรภาษาไทยว่า “กระดิ่งแดง” อยู่ใต้รูปฉบับหลังขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูป”กระดิ่งคู่”อย่างเดียวไม่มีตัวอักษรอยู่ใต้รูป ปรากฎตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ (ก) 131529 และ (ก) 131531 เอกสารหมายจ.6, จ.7 ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม 2526 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวทั้งสองคำขอเหมือนหรือเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งจดทะเบียนไว้แล้วตามคำขอเลขที่ (ก) 128003,(ก) 128778, (ก) 128779 ปรากฎตามหนังสือของนายทะเบียนการค้าเอกสารหมาย จ.9, จ.10 ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งจดทะเบียนไว้ตามคำขอดังกล่าวของจำเลยทั้ง 3 ฉบับ ปรากฎตามสำเนาคำขอเลขที่(ก) 128003 ซึ่งขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2525 และตามสำเนาคำขอเลขที่ (ก) 128778 กับ (ก) 128779 ซึ่งขอจดทะเบียนเมื่อวันที่14 มกราคม 2526 เอกสารหมาย จ.13, จ.11 และ จ.12 ตามลำดับข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปกระดิ่งคู่” ใต้รูปมีอักษรไทยคำว่า กระดิ่งแดง” และรูปกระดิ่งคู่” อันเป้ฯเครื่องหมายการค้าพิพาทกับสินค้าเครื่องดื่มที่โจทก์ผลิตออกแจกจ่ายแก่ลูกค้าและประชาชนในประเทศไทยมาก่อนจำเลยเพื่อทราบข้อมูลว่าสินค้าที่โจทก์ผลิตออกมาเช่นนั้นจะได้รับความนิยมจากประชาชนหรือไม่
ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทกับสินค้าที่โจทก์ผลิตออกแจกจ่ายแก่ลูกค้าและประชาชนในประเทศไทยมาก่อนจำเลยเพื่อทราบข้อมูลว่าสินค้าที่โจทก์ผลิตออกมาจะได้รับความนิยมจากประชาชนหรือไม่นั้นเป็นการที่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทกับสินค้าที่โจทก์ผลิตแล้วนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทกับสินค้าของโจทก์ในลักษณะเช่นนั้นเป็นการใช้เพื่อประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ ถึงแม้ในชั้นแรกโจทก์จะแจกจ่ายแก่ประชาชนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และมีจำนวนไม่มากนักก็ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทแล้วเมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทยมาก่อนจำเลยผู้จดทะเบียนทั้งโจทก์ยังนำสืบได้ความด้วยว่า สินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทได้รับความนิยมจากประชาชนในประเทศไทยโจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1)”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share