คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3755/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยหลีกเลี่ยงให้โจทก์เป็นลูกจ้างรายวันและหาทางบ่ายเบี่ยงไม่ให้ค่าจ้างโจทก์ในวันที่โจทก์มาลงชื่อเพื่อปฏิบัติงานในวันต่อไป เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการอุทธรณ์นอกเหนือไปจากที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์และจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่าจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานของจำเลยทุกคนในวันที่ 28 สิงหาคม 2533โดยไม่มีข้อความว่าจะจ่ายให้แก่พนักงานที่พ้นสภาพการเป็นพนักงานก่อนวันดังกล่าว ย่อมมีความหมายว่าการจ่ายเงินโบนัสของจำเลยในวันดังกล่าวนอกจากพนักงานผู้มีสิทธิได้รับเงินโบนัสต้องมีอายุการทำงานครบ 1 ปี นับแต่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วยังต้องมีตัวอยู่ในวันที่มีการจ่ายเงินโบนัสด้วย เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างก่อนวันที่จำเลยจะจ่ายเงินโบนัส โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส จำเลยจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายเป็นการผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังจ่ายให้ไม่ครบตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์ระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 31 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2531 ได้รับค่าจ้างเริ่มแรกเป็นรายวันวันละ 85 บาท โดยจำเลยจะจ่ายให้ในวันที่ 15 และ 30 ของทุกเดือนจนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายน 2531 จำเลยปรับค่าจ้างให้โจทก์เป็นรายเดือนเดือนละ 2,200 บาท และต่อมาในเดือนตุลาคม 2532จำเลยได้ปรับค่าจ้างให้โจทก์อีกครั้งหนึ่งเป็นเดือนละ 2,350 บาทสำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ จำเลยจัดให้โจทก์หยุดในวันอาทิตย์ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคม 2531 จำเลยยังจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ไม่ครบ โดยไม่ได้จ่ายค่าจ้างในวันที่ 1, 2, 6, 8,13, 16, 17, 18, 19, 20, 23, 24, 28 ของเดือนกุมภาพันธ์วันที่ 1, 3, 4, 9, 10, 11, 12, 14, 15, 16, 17, 18, 23, 25,28, 29 ของเดือนมีนาคม วันที่ 1, 2, 4, 7, 8 ของเดือนเมษายนวันที่ 24, 25, 26, 27, 28 ของเดือนพฤษภาคม วันที่ 1, 3, 6, 7,13, 14, 15, 17 ของเดือนมิถุนายน วันที่ 16, 25, 26, 27, 28ของเดือนกรกฎาคม วันที่ 17, 19, 20, 22, 23, 26, 27, 29, 30ของเดือนสิงหาคม วันที่ 1, 2, 3, 5, 9, 10, 12, 13, 15, 17, 23ของเดือนกันยายน วันที่ 1, 3, 4, 5, 6, 7, 20, 21, 22, 26, 27, 28,29, 31 ของเดือนตุลาคม รวม 87 วัน คิดเป็นเงิน 7,395 บาทในเดือนพฤศจิกายน 2531 จำเลยปรับค่าจ้างให้โจทก์เป็นรายเดือนเดือนละ 2,200 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน 2532 ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 78 บาท จำเลยยังจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ขาดอยู่วันละ 4.70 บาทคิดตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน 2532 รวม 180 วัน เป็นเงิน846 บาท เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2532 จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้กับตัวแทนลูกจ้างว่าจะจ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้างพนักงานเท่ากับค่าจ้างคนละ 1 เดือน แต่จำเลยยังมิได้จ่ายเงินโบนัสในปี 2532 คิดเป็นเงิน 2,350 บาท ให้โจทก์และจำเลยมิได้จัดวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2532 ให้โจทก์ ซึ่งโจทก์ขอคิดค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน วันละ 78 บาทเป็นเงิน 468 บาท ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่ายและเงินโบนัสประจำปี 2532 รวมเป็นเงิน 11,059 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อทุก 7 วัน ของเงินค่าจ้างจำนวน 8,251 บาท นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยค้างค่าจ้างโจทก์ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2531 ถึงเดือนตุลาคม2531 โจทก์เป็นเพียงลูกจ้างรายวันของจำเลย โจทก์จะได้รับค่าจ้างต่อเมื่อโจทก์มาทำงาน วันต่าง ๆ ตามฟ้องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยค้างค่าจ้างนั้นเป็นวันที่โจทก์มาลงชื่อเพื่อโจทก์จะได้มาปฏิบัติงานในวันต่อไป ถ้าจำเลยมอบหมายให้โจทก์ไปทำงานโจทก์ก็จะได้รับค่าจ้าง แต่ถ้าจำเลยไม่ได้มอบหมายให้โจทก์ไปทำงาน โจทก์ก็ไม่ได้รับค่าจ้าง ดังปรากฏตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานของพนักงานท้ายคำให้การ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ ขาดอยู่วันละ 4.70 บาท รวมเป็นเงิน 846 บาท ตามฟ้องไม่เป็นความจริงเพราะการที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในอัตราเดือนละ 2,200 บาทนั้น หากคิดเป็นรายวันจากจำนวนวันทำงานใน1 เดือน ซึ่งมี 26 วันทำงาน จะเป็นอัตราค่าจ้างวันละ 84.60 บาทสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่ทางราชการกำหนดไว้ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินโบนัสให้โจทก์เป็นเงิน 2,350 บาทนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ที่กรมแรงงานเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2532 ว่าจะจ่ายโบนัสให้แก่พนักงานปีละหนึ่งเดือน ซึ่งจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้ก็ต่อเมื่อถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2533 โจทก์ยังทำงานไม่ครบ 1 ปีหลังจากที่ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินโบนัสดังกล่าว จำเลยมิได้ค้างค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี รวมเป็นเงิน 468 บาท เพราะการหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นสิทธิที่โจทก์ได้ใช้ไปหมดแล้ว จำเลยจึงมิได้ค้างการจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้องระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์จำเลยแถลงข้อเท็จจริงกันว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์2532 ส่วนในเรื่องเงินโบนัส นับแต่ได้บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2532 แล้ว จำเลยยังไม่เคยจ่ายเงินโบนัสให้พนักงาน จำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานทุกคนในวันที่ 28 สิงหาคม 2532 ในการจ่ายเงินโบนัสไม่ได้ตกลงกันไว้ว่าพนักงานที่ทำงานมาแล้วแต่ได้พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยก่อนวันที่จำเลยจ่ายเงินโบนัส ให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้โดยให้คำนวณตามระยะเวลาที่ได้ทำงานมา ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์จำนวน 840.60 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ตามข้อ 2.2 ว่าจำเลยได้ขออนุญาตให้โจทก์เป็นพนักงานตรวจสอบสินค้าของจำเลยตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2504 ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 ว่าด้วยผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ข้อ 7 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11ซึ่งโจทก์จะต้องได้รับเงินเดือนประจำนับแต่เริ่มแรกเข้าทำงานแต่จำเลยหลีกเลี่ยงกฎหมายดังกล่าวให้โจทก์เป็นลูกจ้างรายวันและยังหาทางบ่ายเบี่ยงไม่ให้ค่าจ้างโจทก์ในวันที่มาลงชื่อเพื่อปฏิบัติงานในวันต่อไป เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่โจทก์มาลงชื่อดังกล่าว พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์ฟ้องว่าโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยได้รับค่าจ้างเริ่มแรกเป็นรายวันวันละ 85 บาท จนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายน2531 จำเลยได้ปรับค่าจ้างให้โจทก์เป็นรายเดือนเดือนละ 2,200 บาทและต่อมาในเดือนตุลาคม 2532 จำเลยได้ปรับค่าจ้างให้โจทก์อีกครั้งหนึ่งเป็นเดือนละ 2,350 บาท ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยหลีกเลี่ยงให้โจทก์เป็นลูกจ้างรายวันและหาทางบ่ายเบี่ยงไม่ให้ค่าจ้างโจทก์ในวันที่โจทก์มาลงชื่อเพื่อปฏิบัติงานในวันต่อไปเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการอุทธรณ์นอกเหนือไปจากที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคแรก ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์ตามข้อ 2.3 ว่า การจ่ายเงินโบนัสของจำเลยมีการทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่าตกลงจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานเท่ากับค่าจ้างคนละ 1 เดือน ซึ่งสามารถคำนวณเป็นสัดส่วนในการจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ได้ตามระยะเวลาที่โจทก์ทำงานกับจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสจากจำเลย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2532 โจทก์จำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย ล.3 ว่า จำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานของจำเลยเท่ากับค่าจ้างคนละ 1 เดือน โดยไม่มีข้อตกลงว่าจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานที่พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานก่อนวันที่จำเลยจ่ายเงินโบนัส ซึ่งจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานทุกคนในวันที่ 28 สิงหาคม 2533 ต่อมาเมื่อวันที่28 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ จากข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวแสดงว่า การที่จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานในวันที่ 28 สิงหาคม 2533 นอกจากพนักงานผู้มีสิทธิได้รับเงินโบนัสจะต้องมีอายุการทำงานครบ 1 ปี นับแต่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว ยังจะต้องมีตัวอยู่ในวันที่มีการจ่ายเงินโบนัสด้วย โจทก์ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2533 ก่อนที่จำเลยจะจ่ายเงินโบนัส จึงไม่มีสิทธิรับเงินโบนัส อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ตามข้อ 2.4 ว่า จำเลยพยายามบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงหรือมีเจตนาที่จะไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์โดยถูกต้องตลอดมา ถือว่าจำเลยจงใจผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างที่ยังไม่ได้จ่ายให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเวลา 7 วัน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเดิมโจทก์เป็นลูกจ้างรายวันของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แต่เมื่อจำเลยปรับค่าจ้างให้โจทก์เป็นรายเดือนและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ 2,200 บาท ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นก็เนื่องจากเข้าใจผิดในเรื่องวันทำงานของลูกจ้างรายเดือนมิใช่เป็นการจงใจผิดนัดในการจ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยจงใจผิดนัดในการจ่ายเงินค่าจ้าง เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยมา ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย เป็นการผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังจ่ายให้ไม่ครบตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงิน 840.60บาท จำเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์ระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 31 วรรคแรก มิใช่คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าจ้างจำนวน 840.60 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้อง(วันที่ 16 มีนาคม 2533) จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share