คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3346/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 ให้ใช้บังคับแก่ความผิดซึ่ง เกิดตาม กฎหมายว่าด้วยการศุลกากรด้วย และมาตรา 9 บัญญัติให้พนักงานอัยการร้องขอต่อ ศาลให้จ่ายสินบนหรือรางวัล ดังนี้ เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร และมีคำขอท้ายฟ้อง ขอให้ศาลจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับ ศาลย่อมมีอำนาจสั่งจ่ายสินบนได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักลอบนำโป้ยกั๊ก ปลากรอบ เมล็ดบัวแห้งและถั่วเหลือง รวมราคา 190,593 บาท ซึ่งเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศที่ยังมิได้เสียภาษี และยังมิได้ผ่านศุลกากรจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร และโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะต้องเสียค่าอากรขาเข้าสำหรับของนั้น ซึ่งรวมราคาของและค่าอากรเข้าด้วยกันแล้วเป็นเงิน 276,118.80 บาท หรือมิฉะนั้น จำเลยได้รับซื้อไว้และช่วยพาเอาไปเสียซึ่งสิ่งของดังกล่าว โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้อื่นลักลอบนำพาหนีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 27 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16, 17 พระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13)พ.ศ. 2499 มาตรา 4 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา33 ริบของกลาง และจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับกับจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ลงโทษปรับเป็นสี่เท่าของราคาของ (โป้ยกั๊ก ปลากรอบ และเมล็ดบัวแห้ง) และค่าอากรเข้าด้วยกันแล้ว รวมเป็นเงิน 1,086,888 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบโป้ยกั๊ก ปลากรอบ และเมล็ดบัวแห้งของกลาง และจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบของราคาของกลางกับจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุมร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับถั่วเหลืองของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า การสั่งจ่ายสินบนตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489เป็นอำนาจของอธิบดีกรมศุลกากร ศาลไม่มีอำนาจสั่งจ่ายสินบนนั้นเห็นว่า มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 ให้ใช้บังคับแก่ความผิดซึ่งเกิดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการศุลกากรด้วย และมาตรา 9 ให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้จ่ายสินบนหรือรางวัล ดังนี้ เมื่อตามคำขอท้ายฟ้องปรากฏว่าพนักงานอัยการได้ร้องขอต่อศาลให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับ ศาลก็มีอำนาจจ่ายสินบนตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดพ.ศ. 2489 ได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share