คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3117/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดต่อ พ.ร.บ. ศุลกากรฯ คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดให้ปรับจำเลยและให้จ่ายรางวัลร้อยละ 20 ของเงินค่าปรับแก่เจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุม ดังนี้กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องดำเนินการตาม ป.วิ.อ.มาตรา 7 ซึ่งกำหนดให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณีถ้า ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกจะออกหมายจับมาก็ได้ แต่จะขังหรือปล่อยชั่วคราว ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ได้ เพราะนิติบุคคลไม่อยู่ในสภาพที่จะให้จับกุมได้ คงให้ใช้วิธีออกหมายเรียกผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลมาเพื่อการสอบสวนหรือพิจารณาแล้วแต่กรณีการที่ผู้ร้องที่ 1 ออกหมายเรียกกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยมาแล้วแจ้งข้อหาว่าบริษัทจำเลยกระทำความผิด จึงไม่เป็นการจับกุมและผู้ร้องที่ 1 มิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมจำเลย ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับรางวัลตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิดฯ มาตรา 7 และ 8.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องบริษัทอุตสาหกรรมกระดาษไทย จำกัดจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ให้ปรับจำเลยรวมเป็นเงิน 65,744,852.24บาท และให้จ่ายรางวัลร้อยละ 20 ของเงินค่าปรับแก่เจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุม พันตำรวจเอกอภิรัตน์ ธัญญสิริ ยื่นคำร้องว่าเป็นผู้จับกุมขอให้ศาลสั่งจ่ายรางวัลให้ผู้ร้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาพันตำรวจโทอนันต์ กาญจนกุล กับพันตำรวจโทวิบูลย์ ภักดีมงคล ยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นไม่รับคำคัดค้าน พันตำรวจโทวิบูลย์อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้รับคำคัดค้านของพันตำรวจโทวิบูลย์ต่อมาพันตำรวจโทวิบูลย์ขอถอนคำคัดค้านส่วนพันตำรวจโทอนันต์ไม่อุทธรณ์ แต่มายื่นคำร้องขอรับรางวัลโดยอ้างว่าเป็นผู้ร่วมจับกุมศาลชั้นต้นไต่สวนโดยให้เรียกพันตำรวจเอกอภิรัตน์เป็นผู้ร้องที่ 1พันตำรวจโทอนันต์เป็นผู้ร้องที่ 2
โจทก์ยื่นคัดค้านว่า ผู้ร้องทั้งสองไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมจำเลย จึงไม่มีสิทธิได้รับรางวัล ขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างนัดไต่สวน ผู้ร้องที่ 2 ขอถอนคำร้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1
ผู้ร้องที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่ผู้ร้องที่ 1 ฎีกาว่าผู้ร้องที่ 1 ได้ออกหมายเรียกพันตำรวจโทกษม กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยมาแล้วแจ้งข้อหาว่าบริษัทจำเลยกระทำความผิด ถือว่าบริษัทจำเลยเป็นผู้ต้องหาและถูกจับกุมแล้วโดยผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จับกุมผู้ร้องที่ 1 ชอบที่จะได้รับเงินรางวัลนั้น เห็นว่า ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยดังเช่นคดีนี้ ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 ซึ่งกำหนดให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณี ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก จะออกหมายจับมาก็ได้ แต่จะขังหรือปล่อยชั่วคราวผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไม่มีการจับกุมนิติบุคคลนั้น เพราะนิติบุคคลไม่อยู่ในสภาพที่จะให้จับกุมได้ คงให้ใช้วิธีออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลมาเพื่อการสอบสวนหรือพิจารณาแล้วแต่กรณี การที่ผู้ร้องที่ 1 ออกหมายเรียกพันตำรวจโทกษม กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยมา แล้วแจ้งข้อหาว่าบริษัทจำเลยกระทำความผิดคดนี้ ไม่เป็นการจับกุมดังที่ผู้ร้องที่ 1ฎีกา ผู้ร้องที่ 1 มิใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมจำเลยผู้กระทำความผิดผู้ร้องที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับรางวัลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พุทธศักราช2489 มาตรา 7 และมาตรา 8…”
พิพากษายืน.

Share